ไทยยื่น ‘คำอธิบายเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร’ ต่อศาลโลก

ข่าวต่างประเทศ Monday June 25, 2012 10:50 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ นายรัชนันท์ ธนานันท์ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และรอง ตัวแทนประเทศไทยในการต่อสู้คดีกรณีกัมพูชายื่นขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำพิพากษา คดีปราสาทพระวิหาร ปี ๒๕๐๕ และนายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกันแถลงความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีนี้ ดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ เวลา ๑๔.๐๐ น. นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนประเทศไทยในการต่อสู้คดีฯ ได้ยื่น “คำอธิบายเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร” (Further Written Explanations) ของไทยต่อศาลฯ ตามที่ศาลฯ กำหนด โดยมีนาย Philippe Couvreur นายทะเบียนศาลฯ เป็นผู้รับเอกสารดังกล่าว

“คำอธิบายเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร” เป็นข้อเขียนฉบับที่สองในการต่อสู้คดีดังกล่าว เพื่อโต้ “คำตอบ” (Response) ของกัมพูชาซึ่งได้ยื่นต่อศาลฯ ก่อนหน้านี้ (๘ มีนาคม ๒๕๕๕) และเพื่อเน้นย้ำข้อต่อ สู้คดีของไทยในประเด็นต่าง ๆ ตามที่ได้เคยยื่นไว้ต่อศาลฯ ในข้อเขียนฉบับที่หนึ่ง คือ “ข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษร” (Written Observations) เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

คำอธิบายเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเอกสารยาวประมาณ ๒๔๐ หน้า มีเอกสารและแผนที่ ผนวกอีก ๒ เล่ม รวม ๕๓ รายการ ซึ่งภาคผนวกนี้ มีความยาวประมาณ ๓๘๐ หน้า สรุปสาระสำคัญได้ว่า

(๑) กัมพูชาไม่มีอำนาจฟ้องให้ศาลฯ ตีความ เนื่องจากประเด็นที่กัมพูชาขอศาลฯ ไม่ใช่การตีความแต่เป็นเสมือนการอุทธรณ์ให้ศาลฯ ตัดสินให้กัมพูชาในสิ่งที่ศาลฯ เคยปฏิเสธกัมพูชามาแล้วเมื่อปี ๒๕๐๕ กล่าวคือ ขอให้ศาลฯ ตัดสินว่า เส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่ที่กัมพูชาเรียกว่า “แผนที่ ภาคผนวก ๑” และขอให้ศาลฯ ตัดสินสถานะทางกฎหมายของแผนที่ดังกล่าว

(๒) คำตัดสินของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร ปี ๒๕๐๕ ซึ่งไทยได้ปฏิบัติตามแล้วโดยครบถ้วนตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ ไม่เกี่ยวกับเรื่องเขตแดน แต่เกี่ยวกับอธิปไตยเหนือตัวปราสาทฯ เท่านั้น

(๓) ขอบเขตของบริเวณปราสาทพระวิหารต้องเป็นไปตามเส้นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ซึ่งกัมพูชาได้ยอมรับแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ ทั้งนี้ เส้นตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไม่ใช่เส้นเขตแดน และเรื่องเขตแดนยังจะต้องนำไปเจรจาภายใต้กรอบคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Boundary Commission — JBC) ต่อไป

(๔) คำตัดสินของศาลโลกไม่ได้ให้สถานะทางกฎหมายใด ๆ แก่แผนที่ที่กัมพูชาเรียกว่า “แผนที่ภาคผนวก ๑” ศาลฯ เพียงใช้แผนที่ดังกล่าวเป็นเหตุผลหนึ่งในหลาย ๆ เหตุผลเพื่อชี้ว่า ปราสาทฯ อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาเท่านั้น

๒. คณะสู้คดีของไทยประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กรมแผนที่ทหาร สำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้ร่วมกับ คณะที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของไทยจัดทำ “คำอธิบายเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร” ของไทยดังกล่าว ตามแนวทางที่ได้ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ คณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของประเทศไทย คณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาอนุสัญญาต่าง ๆ และคณะที่ปรึกษากฎหมายซึ่งจัดตั้งตามดำริของนายกรัฐมนตรี แล้ว

๓. สำหรับขั้นตอนต่อไปจากนี้ ศาลฯ จะเป็นผู้กำหนด รวมถึงการกำหนดให้มีการนั่งพิจารณา (public sitting) ด้วยหรือไม่ ซึ่งในชั้นนี้ คาดว่าน่าจะมีขึ้นในช่วงปี ๒๕๕๖ ทั้งนี้ โดยที่คดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลฯ และตามข้อบังคับของศาลฯ ข้อ ๕๓ วรรค ๒ คู่กรณีไม่สามารถเปิดเผยเอกสารที่ใช้ในการต่อสู้คดีต่อ สาธารณชนได้จนกว่าจะเริ่มกระบวนการพิจารณาทางวาจาหรือหลังจากนั้น เว้นแต่ศาลฯ จะกำหนดเป็นอย่างอื่น ดังนั้น ในชั้นนี้ จึงไม่สามารถเปิดเผยข้อความในคำอธิบายเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรดังกล่าวได้

๔. กระทรวงการต่างประเทศขอยืนยันว่า คณะสู้คดีได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด โดยยึดผล ประโยชน์ ของประเทศไทยเป็นที่ตั้ง และขอขอบคุณทุกหน่วยงานสำหรับความร่วมมืออันดี ในการต่อสู้คดีร่วมกันมาโดยตลอด ซึ่งยืนยันความเป็นเอกภาพในการรักษาอธิปไตยของไทย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ