เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน+๓ ณ กรุงพนมเปญ ซึ่งในโอกาสดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน+๓ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ในปี ๒๕๕๕ จะมีการเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๕ ปีของความร่วมมือในกรอบอาเซียน+๓ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของความก้าวหน้าในภูมิภาคนี้ สำหรับประเทศไทยแล้ว กรอบความร่วมมืออาเซียน+๓ ถือเป็นหัวใจของการส่งเสริมการรวมตัวในภูมิภาค และเป็นกรอบความร่วมมือที่สำคัญในการสร้างประชาคมเอเชียตะวันออกในอนาคต
เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เสนอให้มีการออกแถลงการณ์ผู้นำว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนด้านความเชื่อมโยงอาเซียน+๓ (Leader’s Statement on ASEAN Plus Three Partnership on Connectivity) ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน+๓ (ASEAN Plus Three) สมัยพิเศษ ซึ่งประเทศต่าง ๆ ได้ขานรับและสนับสนุนข้อเสนอของไทย พร้อมแสดงความชื่นชมความคิดริเริ่มของไทยในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ความเป็นหุ้นส่วนด้านการเชื่อมโยงอาเซียน+๓ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากลไกในการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยจะครอบคลุม ๓ เสาหลักของความเชื่อมโยง คือ ๑) ความเชื่อมโยงทางกายภาพ ได้แก่ ถนน โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ พลังงาน ฯลฯ ๒) ความเชื่อมโยงด้านกฏระเบียบต่าง ๆ ได้แก่ การเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน กฏระเบียบการข้ามแดน เป็นต้น และ ๓) ความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน และความเป็นหุ้นส่วนในเรื่องของการเชื่อมโยง ในการนี้ ประเทศไทยได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง ความเป็นหุ้นส่วนด้านความเชื่อมโยงเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ที่ผ่านมาเพื่อหารือแนวทางที่อาเซียน+๓ จะช่วยสนับสนุนแผนแม่บทของอาเซียนว่าด้วยการเชื่อมโยง
ในระหว่างการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวถึงวิกฤตยูโรโซน โดยได้แสดงความเห็นว่าประเทศต่าง ๆ ควรติดตามพัฒนาการในยุโรป และเตรียมรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจตามมาอย่างใกล้ชิด ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แสดงยินดีที่อาเซียน+๓ ได้ตกลงกันที่จะเพิ่มวงเงินภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative Multilateralization — CMIM) จาก ๑.๒ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น ๒.๔ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยก็หวังว่าจะมีการดำเนินการตามความตกลงดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ เห็นว่าสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+๓ (ASEAN Plus Three Macroeconomic Research Office) จะเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมสอดส่องสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาค อีกทั้ง ควรมีการผลักดันเรื่องตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiatives) ด้วย
ในเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แสดงความยินดีที่ความตกลงการสำรองข้าวฉุกเฉินในกรอบอาเซียน+๓ (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve-APTERR) ซึ่งได้ลงนามเมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕ โดยความตกลงดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของประชาชนในภูมิภาคโดยการสำรองข้าวเพื่อการนำไปใช้ในภาวะขาดแคลน ทั้งนี้ ไทยได้แสดงความพร้อมที่จะเป็นที่ตั้งสำนักเลขาธิการของความตกลงฯ ด้วย
สำหรับประเด็นปัญหาบนคาบสมุทรเกาหลี รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในระยะที่ผ่านมา ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี จึงได้แสดงความหวังว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจะพัฒนาไปสู่การเปิดกว้างมากขึ้น โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรย้ำกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีถึงความสำคัญของการกลับสู่กระบวนการเจรจา โดยพื้นฐานของการเจรจา ๖ ฝ่าย
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--