รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์กรณีการปรับกำลังทหารเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการตีความคดีปราสาทพระวิหาร

ข่าวต่างประเทศ Tuesday July 17, 2012 14:09 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับการปรับกำลังทหารเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๘.๓๐ น. รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยการปรับกำลังทหาร (Redeployment) ในเขตปลอดทหารชั่วคราว (Provisional Demilitarized Zone : PDZ) และการพิจารณาอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว ให้แล้วเสร็จก่อนที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายมีการอธิบายทางวาจาเพิ่มเติม (further oral explanations) ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๕ — ๑๙ เมษายน ๒๕๕๖ ก่อนที่คาดว่าจะมีคำพิพากษาประมาณช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๕๖

๒. ที่ประชุมข้างต้นได้มีมติให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมร่วมกันพิจารณาร่างความตกลงและข้อกำหนดหน้าที่ (Terms of Reference : TOR) ของผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย และให้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในโอกาสแรก หลังจากที่ได้เจรจาหารือกับฝ่ายอินโดนีเซียและฝ่ายกัมพูชาและปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะนำร่างความตกลงและข้อกำหนดฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๙๐ วรรค ๒ ของรัฐธรรมนูญฯ ต่อไป

๓. รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ย้ำว่า การปรับกำลังทหารเป็นการปรับกำลังอย่างเท่าเทียมกันตามสถานการณ์ที่คลี่คลายในทางที่ดีขึ้น และเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลฯ โดยนายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะให้มีการปรับกำลังทหารของทั้งสองฝ่ายในพื้นที่ PDZ ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕ และรายงานผลการดำเนินการต่อศาล ฯ ต่อไป สำหรับฝ่ายไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการปรับกำลังทหาร ซึ่งจะรวมถึงการดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ร่วมกันด้วย

๔. ต่อข้อซักถามของผู้สื่อข่าวว่าการที่กัมพูชาได้สมัครและได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๓๗ ในปี ๒๕๕๗ จะส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคดีหรือไม่และเพราะเหตุใดประเทศไทยถึงไม่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ ยืนยันว่าประเทศไทยยังคงสถานะเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก ปี ค.ศ. ๑๙๗๒ แต่ประเทศไทยไม่ได้เสนอตัวสมัครเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ ทั้งนี้ หน่วยงานรับผิดชอบหลักของไทย คือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบในเรื่องนี้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ได้เสนอตัวแข่งขันกับกัมพูชาในการสมัครเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวแต่อย่างใด ที่สำคัญ รัฐมนตรีว่าการฯ ย้ำว่าการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่ได้มีผลต่อการพิจารณาคดีของศาลฯ แต่อย่างใด

รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา อยู่ในระดับที่ดี ซึ่งส่งผลให้การเจรจาหารือในด้านต่างๆ มีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น พร้อมกันนี้ ได้ยืนยันว่าการเดินทางไปเยือนกัมพูชาเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ของนายกรัฐมนตรี ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนตามที่บางฝ่ายกล่าวหาแต่อย่างใด ทั้งนี้ การกล่าวหาดังกล่าว เป็นการสันนิษฐานกันเอง และไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ