นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๑๙ — ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕ โดยได้รับการต้อนรับจากนายฟรองซัวส์ ออลองด์ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส และนายฌอง-มาร์ค เอโรต์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฝรั่งเศส ทั้งสองฝ่ายได้หารือแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นทวิภาคี ภูมิภาค และประเด็นระหว่างประเทศ และเห็นว่า การเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสครั้งนี้ เป็นโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานระหว่างไทยและฝรั่งเศส ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันที่จะออกถ้อยแถลงร่วม ดังนี้
๑. ไทยและฝรั่งเศส ยืนยันความสัมพันธ์ฉันมิตรที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งค่านิยมร่วมกันในด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติรัฐ พร้อมทั้งยืนยันเจตจำนงที่จะกระชับความเป็นหุ้นส่วนภายใต้การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมไทย - ฝรั่งเศส ฉบับที่ ๒ (๒๕๕๓-๒๕๕๗) โดยหวังที่จะเห็นความคืบหน้าในสาขาต่างๆ ของความสัมพันธ์ในด้านการเมือง และเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความชื่นชมต่อความสำเร็จของการหารือทวิภาคี (Bilateral consultations) เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๕ ที่กรุงเทพฯ และความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมดังกล่าวต่อไป ทั้งสองฝ่ายมีจุดมุ่งหมายร่วมกันที่จะกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ จึงมีความประสงค์ให้มีการขับเคลื่อนการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจ เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ
๒. ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญในเรื่องพื้นฐานที่เข้มแข็งของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และเชื่อมั่นในศักยภาพที่จะขยายการค้าทวิภาคี ฝรั่งเศสสนับสนุนความพยายามของประเทศไทยในการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย และการปรองดองแห่งชาติ ฝรั่งเศสชื่นชมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจของไทย ตลอดจนความพยายามอย่างยอดเยี่ยมในการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยในประเทศ ไทยและฝรั่งเศสเห็นพ้องที่จะสร้างเสริมบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการดำเนินธุรกิจ เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกต่อการลงทุนจากทั้งสองฝ่าย
๓. รับทราบเรื่ององค์ความรู้ของฝรั่งเศสในสาขาเกษตรกรรม อากาศยาน เทคโนโลยีอวกาศ และการพัฒนาพลังงาน รวมทั้งโอกาสที่เกิดขึ้นจากความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งสองประเทศแสดงความสนใจที่จะร่วมมือกันในด้านต่างๆ ดังกล่าวเหล่านี้
๔. ในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาการขนส่งทางระบบราง ไทยยินดีที่เมื่อปี ๒๕๕๔ ฝรั่งเศสได้ตัดสินใจที่จะใช้เงินจากกองทุนรวมของฝรั่งเศสที่อยู่กับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย เพื่อร่วมสนับสนุนทางด้านการเงินสำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับโครงการฟื้นฟูกิจการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย
๕. ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาและการวิจัยในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของทั้งสองประเทศในเวทีโลก ไทยและฝรั่งเศสได้กลายเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในด้านดังกล่าวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยต้อนรับนักวิจัยจากฝรั่งเศสในจำนวนที่มากที่สุดในทวีปเอเชีย และยังมีโครงการวิจัยกว่า ๑๐๐ โครงการ ที่ทั้งสองฝ่ายให้ทุนวิจัยร่วมกัน โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการวิจัยในสาขาการเกษตรและพืชไร่ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และวัสดุศาสตร์ รวมถึงสาขาพลังงานและสิ่งแวดล้อม ทั้งสองฝ่ายยังได้แสดงความสนใจที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งศูนย์ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ทั้งสองฝ่ายหวังที่จะขยายความร่วมมือ โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์พื้นฐานและอาชีวศึกษา และประสงค์ที่จะเพิ่มพูนการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิจัยระหว่างสองประเทศให้มากขึ้น โดยการให้ทุนร่วมกัน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือส่งเสริมการสอนภาษาฝรั่งเศสในไทย ซึ่งการสอนภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทยมีมาเป็นเวลานานแล้ว
๖. ไทยและฝรั่งเศส เน้นย้ำถึงความตั้งใจในการกระชับความสัมพันธ์ของการเจรจาและความร่วมมือที่มีอยู่ระหว่างกระทรวงกลาโหมของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะในสาขาการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การรักษาสันติภาพ ความมั่นคงในภูมิภาค การจัดการด้านขนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ และโครงการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับการทหาร ในการนี้ ฝรั่งเศสและไทยจะหารือร่วมกันต่อไป เพื่อที่จะกำหนดเนื้อหาในหนังสือแสดงเจตนารมณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะกระชับความสัมพันธ์ในด้านดังกล่าวนี้
๗. นายกรัฐมนตรีสนับสนุนบทบาทของฝรั่งเศสในกระบวนการสร้างธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ การประสานนโยบาย การเสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มพูนความสมานฉันท์ในสหภาพยุโรป ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินในปัจจุบัน ได้ตอกย้ำความเกี่ยวพันกันของเศรษฐกิจโลก และความจำเป็นที่จะต้องจัดการกับปัญหาสำคัญเรื่องความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่จะต้องพัฒนาธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจของโลก
๘. ไทยและฝรั่งเศส ตระหนักถึงจุดมุ่งหมายในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี ๒๕๕๘ การเป็นประชาคมที่สงบสุขและมีเสถียรภาพ การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว ประชาคมอาเซียนที่กำลังเกิดขึ้น จะเป็นโอกาสไม่เพียงสำหรับประเทศสมาชิก แต่ยังเป็นโอกาสสำหรับฝรั่งเศส สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ ในโลก ฝรั่งเศสรับทราบการที่ไทยมีส่วนในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยการพัฒนาความเชื่อมโยง และการบูรณาการกับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรีได้เน้นถึงความสำคัญของการเป็นศูนย์กลางของประเทศไทยในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ฝรั่งเศสได้เน้นความมุ่งมั่นอย่างยิ่งยวดของสหภาพยุโรปในการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับอาเซียน และมีความสนใจเป็นพิเศษเรื่องการพัฒนาสถาปัตยกรรมภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายแสดงความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกันสู่ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรปในสามเสาหลักของอาเซียน อันได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม
๙. ทั้งสองฝ่ายยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างเอเชียกับยุโรป โดยเฉพาะในกรอบการประชุมเอเชีย - ยุโรป (อาเซม) โดยมุ่งหวังที่จะเห็นความสำเร็จของการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย - ยุโรป ครั้งที่ ๙ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ ทั้งสองฝ่ายยังตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความสงบสุข เสถียรภาพ และความมั่งคั่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยรวม ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการให้สัตยาบันของสหภาพยุโรปในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕ และมุ่งหวังให้มีการลงนามในพิธีสารเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอนาคตอันใกล้
๑๐. ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี ในประเด็นที่สนใจร่วมกัน ซึ่งรวมถึง หลักธรรมาภิบาล การส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน การลดความยากจน ความเท่าเทียมทางเพศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ความมั่นคงทางทะเล การก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--