เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีคนไทยถูกโจรสลัดไนจีเรียลักพาตัว และพัฒนาการและสถานะล่าสุด กรณีคนไทยถูกทหารเมียนมาร์จับกุม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
๑. กรณีคนไทยถูกโจรสลัดไนจีเรียลักพาตัว
เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๕ เรือเดินสมุทรของบริษัทดำเนินธุรกิจขนส่งน้ำมันในบริเวณตอนใต้ของไนจีเรีย ถูกกลุ่มโจรสลัดโจมตีบริเวณอ่าวกินี ห่างจากชายฝั่งประมาณ ๕๖ กิโลเมตร ทำให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบนเรือชาวไนจีเรีย เสียชีวิต ๒ ราย และลูกเรือชาวอิหร่าน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย รวมทั้งหมด ๔ รายถูกลักพาตัวไป
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจาได้ประสานกับบริษัท เพื่อขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคนไทยดังกล่าว และได้รับการยืนยันว่า มีคนสัญชาติไทย ๑ รายถูกลักพาตัวไป โดยบริษัทได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไนจีเรีย เพื่อหาทางช่วยเหลือตัวประกันทั้งหมดแล้ว และได้ติดต่อสนทนาทางโทรศัพท์โดยตรงกับตัวประกันแล้ว และยืนยันว่า ทุกคนปลอดภัย แต่ไม่สามารถให้รายละเอียดอื่น ๆ ได้ เนื่องจากเรื่องนี้มีความอ่อนไหว และอาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของตัวประกันได้
กระทรวงการต่างประเทศ ได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ประสานกับสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย อินโดนีเซีย และมิตรประเทศอาเซียนอื่น ๆ ในเรื่องนี้ เพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไนจีเรีย ให้ช่วยเหลือผู้ถูกลักพาตัวกลับมาโดยปลอดภัย หลีกเลี่ยงการใช้มาตรการรุนแรงในการแก้ไขปัญหา โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของตัวประกันเป็นอันดับแรก
ที่ผ่านมา มีการโจมตีเรือบรรทุกสินค้าและลักพาตัวชาวต่างประเทศโดยกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งการดำเนินการช่วยเหลือตัวประกันต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกเรือเป็นสำคัญ สำหรับกรณีนี้ กระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดผ่านช่องทางของรัฐบาลไนจีเรีย และบริษัทเจ้าของเรือซึ่งมีช่องทางในการติดต่อให้ความช่วยเหลือลูกเรือที่ถูกจับให้ได้รับการปล่อยตัว
๒. กรณีคนไทยถูกทหารเมียนมาร์จับกุมที่จังหวัดเกาะสอง
สำหรับความคืบหน้ากรณีคนไทย ๙๒ คนถูกทหารเมียนมาร์จับกุมที่จังหวัดเกาะสอง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ล่าสุด สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง กำลังอยู่ระหว่างการประสานเพื่อขอรับทราบผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเมียนมาร์ ในการอนุญาตให้กงสุล ญาติ และประธาน TBC จังหวัดระนอง ว่าจะสามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกจับกุมได้เมื่อใด
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ว่าจ้างทนายท้องถิ่น เพื่อเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย และเป็นผู้ว่าความให้กับคนไทยในคดีข้างต้น โดยทนายดังกล่าวจะช่วยว่าความให้กับคนไทยในคดียาเสพติด คดีอาวุธ และคดีลักลอบเข้าเมือง โดยผู้ที่ถูกจับกุมในคดีอาวุธ จำนวน ๘ ราย และคดียาเสพติด จำนวน ๒ ราย ซึ่งในจำนวนนี้ มีคนไทยจำนวน ๑ ราย ถูกจับกุมทั้งในคดีอาวุธและยาเสพติด รวมมีคนไทยถูกจับในคดีทั้งสอง จำนวน ๙ ราย ส่วนที่เหลืออีก ๘๓ ราย ถูกจับกุมในคดีลักลอบเข้าเมือง
ทั้งนี้ ได้มีญาติของผู้ที่ถูกจับกุม ขอให้กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยประชาสัมพันธ์ หรือแจ้งญาติของผู้ที่ถูกจับกุมรายอื่น ๆ ว่า อย่าหลงเชื่อผู้ที่กล่าวอ้างว่าสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกจับกุมให้ได้รับการปล่อยตัว เพราะทราบว่า มีญาติผู้ถูกจับกุมบางรายได้รับการติดต่อจากผู้กล่าวอ้างดังกล่าว
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--