ผลงานด้านการต่างประเทศของรัฐบาลในรอบ ๑ ปี

ข่าวต่างประเทศ Tuesday August 28, 2012 11:07 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับผลงานด้านการต่างประเทศของรัฐบาลในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมา ซึ่งภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐบาลทั้งนโยบายเร่งด่วนข้อ ๑.๖ การเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ และนโยบายหลักในข้อ ๗ นโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งในขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศยังเป็นหน่วยงานสนับสนุนในนโยบายเร่งด่วนอื่น ๆ ด้วยโดยเฉพาะข้อ ๑.๕ การส่งเสริมสันติสุขในภาคใต้

ก่อนที่รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเข้ารับหน้าที่ ได้มีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับด้านการต่างประเทศในหลายประเด็น อย่างไรก็ดี ภายหลังการเข้ารับหน้าที่รัฐบาลเริ่มภารกิจด้านการต่างประเทศทันที โดยได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลและระดับรัฐมนตรีซึ่งเป็นการตอบสนองต่อนโยบาย โดยนายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนต่างประเทศ รวมทั้งหมด ๑๘ ประเทศ โดยเยือนประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศและประเทศสำคัญอื่น ๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เยอรมนี ฝรั่งเศส ฯลฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนต่างประเทศ ทั้งหมดประมาณ ๔๐ ครั้งใน ๒๓ ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา บราซิล บาห์เรน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มีโอกาสต้อนรับพระราชวงค์และผู้นำรัฐบาลจากต่างประเทศที่เยือนไทยอีกประมาณ ๑๗ ครั้ง อาทิ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ประธานาธิบดีเมียนมาร์ เลขาธิการสหประชาชาติ ฯลฯ ซึ่งการแลกเปลี่ยนการเยือนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีและการยอมรับจากนานาชาติ

ผลงานที่โดดเด่นของรัฐบาลประการหนึ่งคือการฟื้นฟูและกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับเมียนมาร์ และกัมพูชา อาทิ การเปิดด่านแม่สอด-เมียวดี เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๔ หลังจากที่ถูกปิดมานานกว่า ๑ ปี การลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายทางคมนาคมและการค้า รวมถึงการพัฒนาโครงการถนนสามฝ่ายเชื่อมไทย-เมียนมาร์-อินเดีย สำหรับความสัมพันธ์กับกัมพูชา รัฐบาลประสบความสำเร็จในการทำให้ทั้งสองฝ่ายเลิกปะทะกันตามแนวชายแดน และได้ผลักดันให้มีการเปิดด่านเพิ่มมากขึ้น เช่น ที่บ้านหนองเอี่ยน จ. สระแก้ว นอกจากนี้ ความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียนที่เหลือก็ดีขึ้นด้วย

รัฐบาลประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย รัฐบาลได้รับการยอมรับในฐานะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย รวมถึงได้รับการยอมรับในความสามารถในการัพฒนาเศรษฐกิจและฟื้นฟูประเทศหลังอุทกภัย ซึ่งเห็นได้ชัดจากการแลกเปลี่ยนการเยือนเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง การพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ มีความก้าวหน้าด้วยดี อาทิ ความสัมพันธ์กับจีน ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อการร่วมมืออย่างยั่งยืนในไทย ๔ ด้าน ได้แก่ การจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา การสร้างระบบบริหารจัดการน้ำ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน และพลังงานทดแทน สำหรับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา การพบหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นการพบเต็มรูปแบบซึ่งแตกต่างจากที่ผ่านมา และความสำเร็จของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในการโน้มน้าวไม่ให้สหรัฐฯ ประกาศลดระดับไทยด้านการค้ามนุษย์ในระหว่างการหารือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ

นอกจากนี้ จากการที่นายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายนำคณะนักธุรกิจร่วมคณะในการเยือนต่างประเทศ ทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในการเจรจาข้อตกลงทางธุรกิจของภาคเอกชนในหลายสาขา อาทิ ด้านบริการตลาดทุน อุตสาหกรรมการเกษตร การศึกษา พลังงาน การแพทย์ ฯลฯ อีกทั้ง ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนระบุปริมาณการค้าการลงทุนกับหลายประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเมื่อเปรีบเทียบในช่วง ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ กับปี ๒๕๕๕ ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวซึ่งมีผลเป็นที่น่าพอใจ

ทั้งนี้ สรุปรวมจำนวนประเด็นที่เกิดขึ้นจากการเยือนและการร่วมประชุมในทุกเวทีของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ระหว่างวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ — ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๕ มีทั้งหมด ๒๑๕ เรื่อง แบ่งเป็นประเด็นที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ๒๗ เรื่อง และที่สำเร็จแต่ยังต้องดำเนินการต่อเนื่องและติดตามอีก ๑๘๘ เรื่อง

สำหรับการส่งเสริมความสัมพันธ์ภายใต้กรอบความร่วมมือพหุภาคี รัฐบาลให้ความสำคัญในการผลักดันความร่วมมือต่าง ๆ โดยเฉพาะภายใต้กรอบอาเซียน ซึ่งไทยให้ความสำคัญในเรื่องอาเซียนปลอดยาเสพติดในปี ๒๕๕๘ ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ การเชื่อมโยงในภูมิภาค อีกทั้ง รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนของไทยในการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน นอกจากนี้ ตัวอย่างความสำเร็จของรัฐบาลที่สำคัญภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศอื่น อาทิ การเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๖๖ ที่นครนิวยอร์ก ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ใช้โอกาสดังกล่าวในการสร้างความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลภายหลังการเข้ารับหน้าที่ และการที่ไทยได้รับความเชื่อมั่นจากนานาประเทศในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยเอเชียตะวันออก ประจำปี ๒๕๕๕ (World Economic Forum on East Asia ๒๐๑๒) ระหว่างวันที่ ๓๐ พฤษภาคม — ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับด้วยดี

ด้านการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทย รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องผ่านกระบวนการและช่องทางต่าง ๆ อาทิ การชี้แจงและทำความเข้าใจกับต่างชาติเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญสูงสุด และเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย การจัดกิจกรรมการทูตเชิงวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทย การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อนบ้านและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ

ด้านการทูตเพื่อประชาชน กระทรวงการต่างประเทศมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการให้บริการประชาชน การคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศและช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยได้ดำเนินการในหลายโครงการ อาทิ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยทำบัตรประชาชนไทยในต่างประเทศในสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่นำร่อง ๖ แห่ง การเปิดสำนักงานหนังสือเดินทางในต่างจังหวัดเพิ่มเติม การดำเนินโครงการ “หนึ่งทูต สามผลิตภัณฑ์” และโครงการ “ฝากทูต ไปขาย”

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศสอดรับกับยุคสมัยและเพื่อรองรับปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มีดำริในการปรับโครงสร้างของกระทรวงฯ อาทิ การจัดตั้งกรมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ การเปิดสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่เพิ่ม ตลอดจนการพิจารณาปรับระดับกงสุลใหญ่เป็นเอกอัครราชทูตใน ๕ แห่ง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและส่งเสริมให้เกิดการทำงานอย่างบรูณาการและมีประสิทธิภาพ

นอกจากผลการดำเนินงานภายใต้นโยบายเร่งด่วนข้อ ๑.๖ และนโยบายหลักข้อ ๗ ข้างต้นแล้ว กระทรวงการต่างประเทศยังได้ส่งเสริมความร่วมมือและสร้างความเข้าใจกับประเทศมุสลิมและองค์กรอิสลามต่าง ๆ เพื่อเป็นส่วนเสริมในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในข้อ ๑.๕ การส่งเสริมสันติสุขในภาคใต้ และนโยบายหลักข้อ ๗.๑๐ โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ให้ทุนแก่นักศึกษาไทยมุสลิมไปศึกษาต่อในต่างประเทศ การดูแลนักศึกษาไทยมุสลิมในต่างประเทศ การจัดการเยือนประเทศกลุ่มมุสลิมของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การต้อนรับคณะผู้แทนขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) เยือนไทย ซึ่งรัฐบาลประสบผลสำเร็จในการไม่ให้มีการนำประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกยกเป็นประเด็นในเวทีระหว่างประเทศ

ในช่วงท้ายของการแถลงผลงาน รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวขอบคุณผู้บริหารกระทรวงการต่างประเทศและข้าราชการทุกระดับชั้นที่ให้ความร่วมมือในการทำงาน จนทำให้งานประสบผลสำเร็จด้วยดี นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ย้ำที่จะทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต่อไป

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ