เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM Summit) ครั้งที่ ๑๖ ณ กรุงเตหะราน
ในโอกาสดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์ของไทยในหัวข้อ “Lasting Peace through Joint Global Governance” ต่อที่ประชุม โดยได้กล่าวถึงความท้าทายในการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน ฝ่ายไทยเห็นว่า กรอบความร่วมมือต่างๆ ในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศจะช่วยเสริมสร้างโลกาภิบาล NAM มีศักยภาพที่จะมีบทบาทได้มากเนื่องจากเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศที่ความหลากหลายจากหลายส่วนของโลกและมีจำนวนสมาชิกมากถึง ๑๒๐ ประเทศ ไทยเองเชื่อมั่นในศักยภาพของ NAM ที่จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนถาวร
ระหว่างการประชุมฯ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้หารือทวิภาคีกับนาย Marty Natalegawa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย นายลูฟซันวันดัน โบล์ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้ามองโกเลีย และเลียนโป คันดู วังชุก รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภูฏาน ตามลำดับ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
๑. ในการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ฝ่ายอินโดนีเซียได้แสดงความปรารถนาที่จะให้ทั้งสองฝ่ายหาข้อยุติในการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านประมงไทย — อินโดนีเซียโดยเร็ว โดยอินโดนีเซียประสงค์จะให้ฝ่ายไทยกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเจรจาความตกลงให้เสร็จสิ้นก่อนการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางการประมงระหว่างไทยกับอินโดนีเซียครั้งต่อไป นอกจากนั้น ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางของอาเซียนในการคลี่คลายปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เนื่องจากไทยเป็นผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับจีนและทั้งสองฝ่ายเห็นว่าประเด็นปัญหาเกี่ยวกับทะเลจีนใต้มีความสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งฝ่ายไทยแจ้งว่าควรจะพยายามผลักดันให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นชอบ (adopt) ข้อพึงปฏิบัติ (Code of Conduct) ในทะเลจีนใต้โดยเร็ว นอกจากนี้ ฝ่ายไทยเน้นย้ำถึงกรณีที่ไทยและกัมพูชาปรับลดกำลังทหารลงตั้งแต่วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนั้น มิใช่เป็นการถอนทหาร (withdraw) หากแต่เป็นการปรับกำลัง (redeploy) ส่วนการดำเนินการในลำดับต่อไปจะต้องหารือในกรอบการประชุมคณะทำงานร่วมไทย — กัมพูชาต่อไป ซึ่งทั้งไทยและกัมพูชาเห็นว่าควรดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดออกจากพื้นที่ให้เรียบร้อยเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ชายแดนดีขึ้นมาก บริบทของการดำเนินการตามมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป จึงควรมีการปรับข้อกำหนด (ToR) ให้เหมาะสมต่อไป
๒. ในการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้ามองโกเลีย ฝ่ายไทยได้แสดงความยินดีกับฝ่ายมองโกเลียที่ได้รับตำแหน่งใหม่ และย้ำว่ารัฐบาลไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับมองโกเลีย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ มองโกเลียย้ำความปรารถนาที่จะเชิญนายกรัฐมนตรีของไทยเยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการซึ่งฝ่ายไทยได้แจ้งว่ากระทรวงการต่างประเทศได้ส่งคำเชิญของมองโกเลียไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว และจะแจ้งผลให้ฝ่ายมองโกเลียทราบในโอกาสแรก นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ความร่วมด้านวิชาการที่ดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคีต่อไป มองโกเลียเป็นประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงมาก
๓. ในการหารือกับรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภูฏาน รัฐมนตรีว่าการฯ แสดงความขอบคุณภูฏานในการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระทันตธาตุ) จากภูฏานเป็นการชั่วคราวในประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการสนันสนุนโครงการพัฒนาสุขภาพเด็กและเยาวชนด้วยการดูแลด้านโภชนาการในภูฏานซึ่งเป็นโครงการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนี้ ภูฏานได้ขอรับการสนับสนุนจากไทยในการสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council — UNSC) วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๓ — ๒๐๑๔ ซึ่งไทยรับที่จะพิจารณาและจะแจ้งให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ขอรับการสนับสนุนการสมัครของไทยเป็นสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๗ — ๒๐๑๘ และขอสนับสนุนการสมัครคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council — HRC) ของไทยช่วงปี ค.ศ. ๒๐๑๕ — ๒๐๑๗ ด้วย
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--