เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับนายเล่อ ยู่เฉิง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ในโอกาสเยือนไทยระหว่างวันที่ ๑๘ — ๒๑ กันยายน ๒๕๕๕ โดยภายหลังการหารือ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
๑. ในระดับทวิภาคี สองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดระหว่างกันในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสด็จฯ เยือนจีนของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงเป็นที่เทิดทูน เคารพรัก และประทับใจของประชาชนชาวจีนเป็นอย่างมาก
๒. การเยือนไทยของผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนในครั้งนี้ได้ช่วยย้ำความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทยกับจีน ซึ่งได้มีการประกาศร่วมกันระหว่างการเยือนจีนอย่างเป็นทางการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๗ -๑๙ เมษายน ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา
๓. ฝ่ายจีนแจ้งว่า จีนมีความเชี่ยวชาญ/ประสบการณ์ด้านรถไฟความเร็วสูงและการบริหารจัดการน้ำ และหวังว่าไทยจะให้โอกาสนักธุรกิจจีนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยในอนาคต
๔. ฝ่ายจีนได้แสดงความขอบคุณฝ่ายไทยสำหรับความคืบหน้ากรณีการสอบสวนคดีสังหารลูกเรือชาวจีน ๑๓ ศพในแม่น้ำโขงเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ โดยในขณะนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งสำนวนคดีดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว
๕. ในระดับภูมิภาค ไทยกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำในเดือนมกราคม ๒๕๕๖ ที่ จ.เชียงราย โดยจะเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอีก ๕ ประเทศ ได้แก่ จีน สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนาม เข้าร่วมฯ ในโอกาสดังกล่าว ไทยรับที่จะผนวกประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยในการเดินเรือในแม่น้ำโขงเข้ากับประเด็นการบริหารจัดการน้ำ ตามคำแนะนำของฝ่ายจีน
๖. ต่อประเด็นปัญหาในทะเลจีนใต้ นั้น ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน (กรกฎาคม ๒๕๕๕ — กรกฎาคม ๒๕๕๘) ได้ขอบคุณจีนที่เข้าใจอาเซียน โดยอาเซียนพร้อมรับฟังและร่วมมือกับจีน ทั้งนี้ สองฝ่ายจะส่งเสริมการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของประเทศภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea - DOC) ควบคู่กับการเจรจาเพื่อบรรลุแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct — COC) เพื่อให้การแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างยั่งยืน เนื่องจากในความสัมพันธ์อาเซียน-จีน นั้น ยังมีเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือกันอีกมาก และไม่ควรปล่อยให้ประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในภาพรวม ในการนี้ ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน จะจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-จีน อย่างไม่เป็นทางการในเดือนตุลาคม ๒๕๕๕ ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๒๑ ที่กรุงพนมเปญในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕
๗. ต่อประเด็นความขัดแย้งของจีนและญี่ปุ่นเรื่องอธิปไตยเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก นั้น ไทยถือว่า ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างเป็นมิตรประเทศที่ใกล้ชิดกับไทย ในการนี้ ไทยจึงประสงค์เห็นประเด็นปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขผ่านวิถีทางการทูต และเชื่อว่าการเจรจาระหว่างสองฝ่ายจะนำมาซึ่งข้อยุติโดยสันติวิธี ซึ่งในเรื่องดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีคนไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ประท้วงในครั้งนี้ มีเพียงที่ทำการของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกวางโจว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเดียวกับสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบเล็กน้อย และสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ประกาศแจ้งเตือนประชาชนชาวไทยในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงให้ระมัดระวังและอยู่ห่างจากสถานที่ที่อาจมีการชุมนุมหรือเดินขบวนด้วยแล้ว
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--