นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยมีกำหนดการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาเพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ ๖๗ ซึ่งในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะมีภารกิจสำคัญ ทั้งในกรอบสหประชาชาติ และนอกกรอบสหประชาชาติเพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเยือน โดยเฉพาะการส่งเสริมผลประโยชน์ของ ภาคธุรกิจ การค้าและการลงทุนของไทย
การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ ๖๗ หรือ การประชุม UNGA ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีของสหประชาชาติ (UN) และนับเป็นเวทีการประชุมโลกที่ใหญ่ที่สุดที่มีผู้นำจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วม เพื่อใช้โอกาสนี้แสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ
การประชุมครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ ๖๗ ซึ่งประธานการประชุมจากประเทศเซอร์เบีย ได้กำหนดหัวข้อหลักของการประชุมปีนี้ คือ "Bringing about adjustment or settlement of international dispute or situations by peaceful means" เพื่อย้ำบทบาทสำคัญของสหประชาชาติในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของโลก โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับสันติภาพและความมั่นคง ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะแสดงวิสัยทัศน์ของไทยเกี่ยวกับพัฒนาการที่สำคัญของโลก รวมทั้งประเด็นที่ประชาคมโลกให้ความสนใจ โดยถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีจะย้ำแนวทางการบริหารประเทศของไทยที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อลดและป้องกันการเกิดข้อพิพาทที่มีต้นเหตุจากความไม่เสมอภาค ความไม่เท่าเทียมกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ พร้อมใช้โอกาสนี้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย โดยแสดงความพร้อมของรัฐบาลในการบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้าภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลและหลังเหตุการณ์อุทกภัยปี ๒๕๕๔ ตลอดจน ความก้าวหน้าของไทยในเรื่องบทบาทและศักยภาพของสตรี และการกลับมามีบทบาทแข็งขันของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทในการสร้างสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ หรือการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ และเพื่อนบ้านเพื่อการพัฒนา และในการนี้ นายกรัฐมนตรีจะพบหารือกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง แห่งเมียนมาร์ และอื่น ๆ ในช่วงระหว่างการประชุมด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการร่วมกิจกรรมคู่ขนานอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น โครงการ Every Women Every Child (EWEC): Global Strategy for Women's and Children's Health ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การริเริ่มของเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของสตรีและเด็ก ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับเชิญให้กล่าวสุนทรพจน์ในงานดังกล่าว ซึ่งไทยจะหยิบยกประเด็นเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) ที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตของเด็กและสตรี ควบคู่ไปกับการพัฒนาบทบาทสตรี ที่มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพื่อส่งเสริมให้สตรีมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะตอกย้ำบทบาทเชิกรุกและสร้างสรรค์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศไทย ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยนายกรัฐมนตรีจะกล่าวสุนทรพจน์ที่ Asia Society ในหัวข้อ "ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" โดยจะได้กล่าวถึงความท้าทายทั้งทางเศรษฐกิจของโลกและความมั่นคงที่เกิดข้อพิพาทขึ้นตามภูมิภาคต่าง ๆ ขณะที่อาเซียนที่กำลังก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๐๑๓ จะมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเอเชีย ด้วยการพัฒนาการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนไว้ด้วยกัน เพื่อความมั่นคง การพัฒนาและ การเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ โดยในฐานะศูนย์กลางและมีบทบาทสำคัญต่อการเชื่อมโยงของอาเซียน และมีการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เพื่อส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานภูมิภาคและของโลก นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะตอกย้ำความเชื่อมั่นต่อศักยภาพในด้านต่าง ๆ ของไทย ทั้งความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และนโยบายการพัฒนาและการเติบโตอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ จะได้กล่าวถึงบทบาทของจีนในสหรัฐฯ ในภูมิภาคอาเซียนที่จะมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงและการเจริญเติบโตของภูมิภาค
สำหรับภารกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศไทย นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการดังนี้ การเข้าร่วมและเปิดงาน Thai Restaurant Week ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงพาณิชย์ พร้อมกับมอบนโยบายให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารไทย ณ นครนิวยอร์ก การกล่าวสุนทรพจน์เปิดการสัมมนาในหัวข้อ "The State of the Thai Economy" เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย ในสาขาการเงิน การคลัง และตลาดทุน โดยมีภาคเอกชนไทยในสาขาที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย การกล่าวเปิดงาน Executive Luncheon Meeting ที่จัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและ BOI ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมจากภาคเอกชนไทยและนักลงทุนสหรัฐฯ ในกลุ่ม real sector โดยมีผู้แทนจาก USABC และ USCC เข้าร่วมด้วย
พร้อมใช้โอกาสนี้ ศึกษาและเยี่ยมชม Highline Park และ Grand Central Station เพื่อศึกษาระบบการบริหารจัดการ การวางผังเมือง และระบบรักษาความปลอดภัยในนครนิวยอร์กที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทย และพบหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์ กับนาย Michael Rubens Bloomberg นายกเทศมนตรีนิวยอร์ก ซึ่งเป็นผู้ที่มีความโดดเด่นในฐานะนายกเทศมนตรีและประสบความสำเร็จทั้งในทางธุรกิจและในการบริหารเมือง นอกจากนี้ จะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนชั้นนำของสหรัฐฯเข้าสัมภาษณ์ ได้แก่ Wall Street Journal และ The New York Times
สำหรับคณะทางการฝ่ายไทย ที่จะร่วมเดินทางครั้งนี้ ประกอบไปด้วยบุคคลสำคัญ คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หม่อมราชวงศ์ พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายแพทย์ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และได้เชิญภาคเอกชนที่มีศักยภาพร่วมเดินทางด้วย ไม่ว่าจะเป็น ภาคเอกชนในสาขาการเงิน การคลัง ตลาดทุน อุตสาหกรรมอาหารและสินค้าเกษตร ธุรกิจแฟชั่นและการออกแบบ ตลอดจน สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อจะได้ใช้โอกาสการเดินทางครั้งนี้ สร้างความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจและการส่งเสริมผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ และขยายช่องทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อมากที่สุด และเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับ ๓ ของไทย
สำหรับภารกิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งนอกเหนือจากร่วมคณะกับนายกรัฐมนตรีแล้ว รัฐมนตรีว่าการฯ ยังมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในกรอบสหประชาชาติ อาทิ การประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่อง Foreign Policy and Global Health การประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการของ UN Democracy Caucus รวมทั้งการประชุมอื่นภายใต้กรอบอาเซียน ได้แก่ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Informal ASEAN Ministerial Meeting) การประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับสหรัฐฯ การประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับกลุ่มความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC) รวมถึงการหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับเลขาธิการสหประชาชาติ สำหรับกรอบความร่วมมืออื่น รัฐมนตรีว่าการฯ มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีในกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) และการประชุมประสานงานระดับรัฐมนตรีภายใต้กรอบองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ยังมีกำหนดที่จะหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศต่าง ๆ อาทิ ปานามา โปรตุเกส เบลเยี่ยม โคลัมเบีย เอสโตเนีย อิรัก ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ ปาเลสไตน์ ฯลฯ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--