รัฐมนตรีว่าการฯ ร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ ๖๗

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 25, 2012 11:41 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในโอกาสติดตามนายกรัฐมนตรีเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (United Nations General Assembly — UNGA) สมัยที่ ๖๗ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

๑. ภาพรวม

๑.๑ การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เป็นเวทีการทูตพหุภาคีที่มีความสำคัญที่สุดของโลก มีผู้นำและบุคคลสำคัญจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมกว่า ๑๙๓ ประเทศ และในปีนี้เป็นเรื่องที่ปลื้มปิติที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ได้ทรงมีพระดำรัสในที่ประชุม High-Level Meeting on the Rule of Law at the National and International Levels ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมดังกล่าว และทรงเป็นผู้กล่าวถ้อยแถลงในนามของอาเซียนด้วย

๑.๒ การเดินทางมานครนิวยอร์กของนายกรัฐมนตรีและคณะในครั้งนี้มีเป้าประสงค์หลัก ๒ ประการ คือ ๑) การชูบทบาทไทยในเวทีสหประชาชาติ และ ๒) การสร้างความเชื่อมั่นของไทยในด้านต่าง ๆ โดยในกรอบสหประชาชาติ ไทยจะได้มีโอกาสแสดงท่าทีในประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ ต่างๆ อาทิ เรื่องซีเรีย ปาเลสไตน์ กิจกรรมรักษาสันติภาพ ตลอดจนชูบทบาทของไทยในภูมิภาค โดยเฉพาะในบริบทของอาเซียน และเรื่องการเชื่อมโยง และนโยบายของไทยในการพัฒนาโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ในขณะเดียวกันก็พร้อมแบ่งปันประสบการณ์ของไทย อาทิ โครงการที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า และการพัฒนาเด็กและสตรี ซึ่งเป็นสิ่งที่สหประชาชาติชื่นชมไทย และได้หยิบยกความสำเร็จของไทยเป็นตัวอย่างในหลายเวที ทั้งความสำเร็จของโครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค และกองทุนพัฒนาสตรี ซึ่งในครั้งนี้ เลขาธิการสหประชาชาติได้เชิญนายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์ในโครงการ Every Woman Every Child ด้วย

๑.๓ สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย นอกจากนายกรัฐมนตรีจะได้กล่าวถ้อยแถลงในเวทีสหประชาชาติถึงพัฒนาการของไทยหลังจากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดพบปะกับภาคเอกชนและผู้ที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ อาทิ ร่วมเปิดการสัมมนา Thailand: Positioning for Growth and Stability ซึ่งจัดโดยกระทรวงการคลัง การหารือกับสมาชิก USABC และ USCC ในเวที Executive Luncheon Meeting ซึ่งจัดโดย BOI และการเปิดงาน Thai Restaurant Week ซึ่งจัดโดยกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงการกล่าวสุนทรพจน์ให้แก่ Asia Society

๑.๔ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังจะใช้โอกาสในการเข้าร่วมประชุม กระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดการหารือทวิภาคีกับ ประธานาธิบดีเมียนมาร์ ประธานคณะมนตรียุโรป ประธานสมัชชา UNGA และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเออี

๑.๕ สำหรับภารกิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่นอกเหนือจากร่วมบางกิจกรรมกับนายกรัฐมนตรีแล้ว รัฐมนตรีว่าการฯ ยังมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในกรอบสหประชาชาติ อาทิ การประชุมของ UN Democracy Caucus การประกลุ่มเพื่อนเลขาธิการสหประชาชาติในเรื่องเมียนมาร์ รวมทั้งการประชุมอื่นภายใต้กรอบอาเซียน ได้แก่ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Informal ASEAN Ministerial Meeting) การประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับสหรัฐฯ การประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับกลุ่มความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC) รวมถึงการหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับเลขาธิการสหประชาชาติและประธานสมัชชา UNGA นอกจากนี้ ยังจะเข้าร่วมการประชุมกรอบความร่วมมืออื่น อาทิ กรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) และกรอบองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) อีกทั้ง รัฐมนตรีว่าการฯ มีกำหนดหารือทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ เช่น ปานามา เบลเยี่ยม โคลัมเบีย บาห์เรน เอสโตเนีย อิรัก ฟิลิปปินส์ ปาเลสไตน์ และองค์กร เช่น American Jewish Committee

๒. ภารกิจของนายกรัฐมนตรีว่าการในวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๕

๒.๑ ในวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นวันแรกที่ปฏิบัติภารกิจที่นครนิวยอร์ก รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ร่วมคณะนายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมโรงเรียนในย่าน Harlem Children Zone ตามข้อเสนอของ UNICEF ซึ่งเป็นการศึกษาดูงานการพัฒนาการศึกษาสำหรับเด็กผู้ด้อยโอกาส เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนางานที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนไทย หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปมอบนโยบายให้แก่ผู้ช่วยทูตฝ่ายการพาณิชย์ให้ช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนของไทยในต่างประเทศและเชิญชวนให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยให้มากยิ่งขึ้น พร้อมนี้ นายกรัฐมนตรีได้เปิดงาน Thai Restaurant Week ซึ่งจัดโดยกระทรวงพาณิชย์เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์อาหารไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น

๒.๒ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้หารือทวิภาคีกับนายโรมูโล รูซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐปานามา ซึ่งทั้งสองฝ่ายยินดีที่ปีนี้เป็นปีครบรอบ ๓๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับปานามา โดยไทยเห็นว่าปานามามีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในการเป็นประตู สู่ทวีปอเมริกา และเล็งเห็นศักยภาพของปานามาในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค พร้อมส่งเสริมให้ปานามาใช้ไทยเป็นประตูสู่ภูมิภาคอาเซียน อีกทั้ง ควรส่งเสริมการเยือนของภาคธุรกิจระหว่างกัน

๒.๓ สำหรับการหารือกับนาย ดิดิเยร์ เรนเดอร์ส รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การค้าต่างประเทศและกิจการยุโรปของเบลเยียม ทั้งสองฝ่ายพอใจกับความสัมพันธ์ที่มีความใกล้ชิดในทุกระดับ ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันถึงแนวทางการกระชับความสัมพันธ์ โดยเฉพาะการเสด็จฯ เยือนไทยของเจ้าชายฟิลิป มกุฎราชกุมารแห่งเบลเยียมซึ่งจะทรงนำคณะนักธุรกิจมาศึกษาลู่ทางการขยายการค้าการลงทุน ตลอดจนได้หารือกันถึงความเป็นไปได้ในการเยือนเบลเยียมอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ในปี ๒๕๕๖ นอกจากนี้ ไทยยังได้ขอให้ฝ่ายเบลเยี่ยมพิจารณาการขอยกเว้นการตรวจลงตราเข้าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปในเขตเชงเก็นสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทยด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ