เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือทวิภาคีกับ ๔ ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน เอสโตเนีย และอิรัก ในระหว่างเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (United Nations General Assembly — UNGA) สมัยที่ ๖๗ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
๑. เจ้าชาย อับดุลอาซิซ บิน อับดุลลาห์ บิน อับดุลอาซิซ อัล ซาอุด (HRH Prince Abdulaziz bin Abdullah bin Abdulaziz) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เข้าเฝ้า ฯ HRH Prince Abdulaziz bin Abdullah bin Abdulaziz รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการหารือระดับรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งแรกในรอบ ๒๑ ปี โดยรัฐมนตรีว่าการฯ ได้ชื่นชมบทบาทของซาอุดีอาระเบียในฐานะที่เป็นผู้นำของโลกมุสลิม นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แจ้งว่า รัฐบาลไทยประสงค์ที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ให้กลับสู่สภาวะปกติ และให้ความสำคัญกับการติดตามความคืบหน้าคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับซาอุดีอาระเบีย นายกรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการฯ เป็นประธานคณะกรรมการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินคดีพิเศษที่เกี่ยวข้องกับประเทศซาอุดีอาระเบีย ผลักดันความคืบหน้าในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แจ้งพัฒนาการล่าสุดให้ฝ่ายซาอุดีอาระเบียทราบ และได้แจ้งความพร้อมของไทยที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับฝ่ายซาอุดีอาระเบียต่อไป ซึ่งฝ่ายซาอุดีอาระเบียได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับฝ่ายไทย โดยทั้งสองฝ่ายจะประสานงานในรายละเอียดในระดับเจ้าหน้าที่ต่อไป
๒. เชค คาหลิด บิน อาเหม็ด บิน โมฮัมเหม็ด อัล คอลิฟะห์ (H.E. Shaikh Khalid Bin Ahmed Bin Mohamed Al Khalifa) รัฐมนตรีต่างประเทศบาห์เรน ทั้งสองฝ่ายพอใจกับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด โดยไทยยินดีที่จะได้มีโอกาสต้อนรับรัฐมนตรีต่างประเทศบาห์เรนในโอกาสเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย - บาห์เรน (High Joint Commission - HJC) ครั้งที่ ๒ ที่เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๒๕ — ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๕ เพื่อกระชับความร่วมมือทางด้านต่าง ๆ อาทิ ความมั่นคงด้านอาหารซึ่งภาคเอกชนไทยมีความสนใจ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างธนาคารอิสลามของสองประเทศ การแสวงหาพลังงานทางเลือก และการก่อสร้างซึ่งภาคเอกชนไทยสนใจร่วมมือในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้มีรายได้น้อยในบาห์เรน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือกันถึงความร่วมมือในกรอบอาเซียน-กลุ่มประเทศริมอ่าว (ASEAN-GCC) โดยบาห์เรนแสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวในระดับผู้นำในโอกาสแรกต่อไป
๓. นายอูรมาส ไปป์ (Mr. Urmas Paet) รัฐมนตรีต่างประเทศเอสโตเนีย ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความพอใจความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน โดยฝ่ายเอสโตเนียได้แสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการการประชุมหารือเรื่องการเมืองระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งแรกภายใต้ความตกลงในเรื่องนี้เมื่อปี ๒๕๕๓ นอกจากนี้ ฝ่ายเอสโตเนียได้แสดงความประสงค์ที่จะเริ่มเจรจาความตกลงการบริการทางอากาศระหว่างกัน พร้อมทั้งขอให้ทางการไทยพิจารณาความเป็นไปได้ในการยกเว้นการตรวจลงตราให้กับชาวเอสโตเนียที่ได้เดินทางมาที่ประเทศไทย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ชาวเอสโตเนียเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ รับที่จะพิจารณาด้วยดี ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ขอให้ฝ่ายเอสโตเนียสนับสนุนคำขอของไทยในการพิจารณาการขอยกเว้นการตรวจลงตราเข้าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปในเขตเชงเก็นสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทยด้วย อนึ่ง ในระหว่างการหารือ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลง ๒ ฉบับ ได้แก่ ๑) ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเอสโตเนียว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมและการศึกษา และ ๒) อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเอสโตเนียเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้
๔. นายโฮเชียร์ เซบาร์ (Mr. Hoshyar Zebari) รัฐมนตรีต่างประเทศอิรัก ไทยพร้อมร่วมมือกับอิรักเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีให้แน่นแฟ้นและขยายความร่วมมือระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ ได้ขอให้ฝ่ายอิรักอำนวยความสะดวกการนำเข้าสินค้าไทย ในขณะที่ฝ่ายอิรักได้แสดงความสนใจในการนำเข้าข้าว และชักชวนให้ไทยไปลงทุนในด้านการก่อสร้าง ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยมีศักยภาพ นอกจากนี้ ไทยพร้อมให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่อิรักในด้านต่าง ๆ อาทิ การเกษตร การออกแบบอาคาร การศึกษา และการทำธุรกิจ ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ย้ำคำเชิญให้นายกรัฐมนตรีอิรักเยือนไทยเพื่อกระชับความร่วมมือทางด้านต่าง ๆ ต่อไป พร้อมแสดงความหวังว่าอิรักจะเปิดสถานเอกอัครราชทูตอิรักประจำประเทศไทยอีกครั้งในอนาคตอันใกล้
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--