เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมกลุ่มเพื่อนเลขาธิการสหประชาชาติในเรื่องเมียนมาร์ (Group of Friends of UNSG on Myanmar) ในระหว่างเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (United Nations General Assembly — UNGA) สมัยที่ ๖๗ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
กลุ่มเพื่อนเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมาร์ ประกอบด้วย ๑๔ ประเทศ และ ๑ องค์กร ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้นอร์เวย์ ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป โดยกลุ่มประเทศสมาชิกได้ร่วมหารือกับเลขาธิการสหประชาชาตในครั้งนี้ โดยทุกฝ่ายมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันในการขานรับนโยบายการปฏิรูปประชาธิปไตยในเมียนมาร์
รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวว่า ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีเมียนมาร์ต่อที่ประชุม UNGA เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๕ เป็นที่ประจักษ์ว่าเมียนมาร์ได้เข้าสู่ศักราชใหม่ โดยในมุมมองของไทยเห็นว่า การปฏิรูปทางการเมืองของเมียนมาร์เป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม และจะไม่หวนกลับไปสู่รูปแบบเดิม (irreversible) อีกทั้งการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของหลักประชาธิปไตยในเมียนมาร์สะท้อนให้เห็นถึงความคืบหน้าของการสร้างความปรองดองในเมียนมาร์ ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ จึงได้เสนอที่ประชุมใน ๔ ประเด็นคือ
๑) ประชาคมโลกควรดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อสนับสนุนเมียนมาร์ต่อไป เพื่อให้เมียนมาร์ก้าวต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
๒) ประชาคมโลกควรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่กับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง แห่งเมียนมาร์ โดยเฉพาะในความพยายามในการปฏิรูปและสร้างความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งไทยเห็นว่า ประชาคมโลกควรต้องเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับเมียนมาร์ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม นอกจากนี้ ไทยสนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของสหประชาชาติในเรื่องนี้ รวมถึงโครงการความช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ แก่เมียนมาร์ ไทยดีใจที่หลายประเทศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ และขอเรียกร้องให้ยกเลิกมาตราการการคว่ำบาตรต่อเมียนมาร์ทั้งหมด
๓) ประชาคมโลกควรสนับสนุนให้ประธานาธิบดีเมียนมาร์และนางออง ซาน ซูจี ทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันการปฏิรูปต่อไป โดยไทยเชื่อมั่นว่าอนาคตของเมียนมาร์ขึ้นอยู่กับความร่วมมือและวิสัยทัศน์ของทั้งสองฝ่ายในการผลักดันการปฏิรูป เพื่อส่งเสริมความมีเสถียรภาพของเมียนมาร์
๔) ในการสนับสนุนให้เมียนมาร์มีความคืบหน้าด้านประชาธิปไตยนั้น จำเป็นต้องสนับสนุนการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งในส่วนของไทยได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือกับเมียนมาร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถ การปฏิรูปทางด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาทางเลือก
ทั้งนี้ คำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการฯ ได้รับการขานรับจากหลายประเทศ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--