เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๕ ระหว่างการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue — ACD) และเยือนคูเวตอย่างเป็นทางการ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
๑. ไทยได้ริเริ่มการประชุมความร่วมมือเอเชีย (ACD) เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว เพื่อเป็นเวทีการรวมตัวของเอเชียทั้งภูมิภาค ปัจจุบัน มีประเทศสมาชิกทั้งหมด ๓๒ ประเทศ มีประชากรรวมแล้วร้อยละ ๖๐ ของประชากรโลก และเป็นกลุ่มประเทศที่ค้าขายกับไทยมากที่สุด
๒. การประชุมสุดยอดความร่วมมือเอเชีย (ACD Summit) ถือเป็นการประชุมระดับผู้นำเป็นครั้งแรก โดยไทยเป็นประเทศประสานงาน (ACD Coordinator) และประสานความร่วมมือ ซึ่ง ACD ขับเคลื่อนความร่วมมือ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว สังคม และวัฒนธรรม
๓. ในการประชุมครั้งนี้ ไทยอยากเห็นการพัฒนาความเชื่อมโยงภายในภูมิภาค ทั้งการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม (รถไฟและรถไฟความเร็วสูง) สังคม และวัฒนธรรม โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงไปสู่อาเซียนและภูมิภาคเอเชียทั้งหมด นอกจากนี้ ไทยอยากให้ ACD ใช้จุดแข็งของแต่ละภูมิภาคในการเสริมซึ่งกันและกัน (complement each other) อาทิ อาเซียนมีความมั่นคงทางอาหาร ในขณะที่กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับมีความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งการพัฒนาทั้งหมดนี้จะเอื้อต่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในภูมิภาค อาทิ การลดระดับความยากจน การลดช่องว่างของระดับการพัฒนา ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ฯลฯ ตลอดจนส่งเสริมความเจริญเติบโต ความเข้มแข็ง และความมั่นคงภายในภูมิภาค
๔. สำหรับการประชุมครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมและไทยพอใจผลการประชุมครั้งนี้ เพราะนอกจากที่ประชุมฯ จะได้ตอบรับแนวคิดการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและพลังงานของไทย และประเทศสมาชิก ACD ทุกประเทศต่างนึกถึงบทบาทของไทยในฐานะผู้ริเริ่ม ACD แล้ว คูเวตยังได้ประกาศให้การสนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนา ACD จำนวน ๓๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยได้ประกาศเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACD ทั้งในระดับรัฐมนตรีและระดับผู้นำในปี ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นปีของการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ เอื้อต่อการเป็น “มหาภูมิภาคเอเชีย” และการเพิ่มพูนบทบาทของไทย
๕. ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เยือนคูเวตอย่างเป็นทางการและพบหารือกับ His Highness Sheikh Jaber Al-Mubarak Al-Hamad Al-Sabah นายกรัฐมนตรีคูเวต และได้มีการหารือถึงภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-คูเวต การขยายช่องทางการค้า การลงทุนระหว่างกัน การส่งเสริมการออกสินค้าเกษตรของไทย ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ชาวคูเวตมาใช้บริการสถานพยาบาลที่ไทยให้มากขึ้น) อุตสาหกรรมก่อสร้าง ตลอดจนความมั่นคงทางพลังงานละอาหาร ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ตอบโจทย์ของทั้งสองประเทศ อนึ่ง นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสดังกล่าวขอบคุณฝ่ายคูเวตที่ให้การสนับสนุนไทยในเวที OIC ตลอดจนให้ทุนการศึกษา นักศึกษาไทยด้วย
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--