การเยือนประเทศไทยของผู้นำประเทศต่าง ๆ

ข่าวต่างประเทศ Friday November 2, 2012 13:45 —กระทรวงการต่างประเทศ

ด้วยวานนี้ (๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของผู้นำและบุคคลสำคัญต่าง ๆ รวมถึงการเยือนต่างประเทศและการเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีประเด็นสำคัญสรุปได้ ดังนี้

๑. ในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ จะมีผู้นำจากประเทศต่างๆ มาเยือนไทย และนายกรัฐมนตรีก็มีภารกิจที่จะต้องไปร่วมประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น การประชุมเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ ๙ ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว ระหว่างวันที่ ๕ - ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ การประชุม Bali Democracy Forum ที่บาหลี อินโดนีเซีย ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ และการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา ระหว่างวันที่ ๑๘ — ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นการประชุมประจำปี โดยในระหว่างการประชุมดังกล่าว จะมีการพบปะหารือระหว่างผู้ประเทศต่างๆ กับนายกรัฐมนตรีไทยด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการไปเยือนสหราชอาณาจักรระหว่างวันที่ ๑๒ — ๑๔ พฤศจิกายน ศกนี้ ด้วยเช่นกัน

๒. สำหรับการพบปะหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้นำประเทศต่างๆ ระหว่างการประชุมนั้น มีดังนี้ ๒.๑) ระหว่างการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ ๙ จะพบปะกับนายกรัฐมนตรีของนอร์เวย์ โปแลนด์ ญี่ปุ่น อิตาลี เอสโตเนีย ประธานาธิบดีบัลแกเรีย และมองโกเลีย รวมถึงประธานประเทศลาวด้วย ๒.๒) ระหว่างการประชุม Bali Democracy Forum จะพบหารือกับประธานาธิบดีมัลดีฟส์ อัฟกานิสถาน และอินโดนีเซีย รวมถึงนายกรัฐมนตรีกาตาร์และตุรกี ด้วย และ ๒.๓) ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน จะพบหารือกับผู้นำเมียนมาร์ อินเดีย และกัมพูชา เป็นต้น

๓. สำหรับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของผู้นำประเทศต่างๆ ประกอบด้วย นายจูเซ มานูเอล บาร์โรซู ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (วันที่ ๔ — ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕) นายอี มยอง-บัก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี (วันที่ ๙ - ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕) นายโยเวรี คากูตา มูเซเวนี ประธานาธิบดีสาธารณรัฐยูกันดา (วันที่ ๑๕ - ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕) นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน (วันที่ ๒๐ — ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕) และอาหมัด โมฮัมหมัด อาหมัด อัล ฏาเย็บ อิหม่ามสูงสุด หรือผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ (วันที่ ๑๖-๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕) สำหรับนายกรัฐมนตรีของอิตาลี ซึ่งเดิมกำหนดจะเดินทางเยือนไทยในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ เช่นกัน ได้ขอเลื่อนกำหนดการเดินทางไปก่อน เนื่องจากภารกิจด้านรัฐสภาของอิตาลี

๔. เกี่ยวกับการเชิญอิหม่ามสูงสุดของอียิปต์เยือนไทยนั้น ขอเรียนว่า ในการเข้าเยี่ยมคารวะอิหม่ามสูงสุดระหว่างการเยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการฯ เมื่อวันที่ ๒๐-๒๒ ตุลาคม ศกนี้ นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เรียนเชิญอิหม่ามสูงสุดเยือนไทย ซึ่งในเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า จะได้เตรียมการที่จะให้ผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนศิษย์เก่าคนไทยที่จบจากมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ที่กรุงไคโร มาเยี่ยมคารวะอิหม่ามสูงสุดด้วย ทั้งนี้ อิหม่ามสูงสุดได้เคยกล่าวว่า อียิปต์เป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลามสายกลาง ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการฯ เห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับชาวไทยมุสลิมใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำให้ประชาชนใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เข้าใจถึงปัญหาต่าง ๆ หากสามารถนำความสงบมาสู่พื้นที่ได้ ก็จะทำให้มีการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น

๕. นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า การที่มีผู้นำประเทศต่างๆ มาเยือนประเทศไทย รวมถึงการขอพบหารือกับนายกรัฐมนตรีไทยในช่วงระหว่างการประชุมระหว่างประเทศ และการที่นายกรัฐมนตรีได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและสมเกียรติในการเยือนประเทศต่าง ๆ ได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของประชาคมระหว่างประเทศต่อประเทศไทย โดยเฉพาะเสถียรภาพทางการเมือง ความเป็นประชาธิปไตย และศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย ที่ได้ฟื้นตัวคืนมาภายหลังจากภัยพิบัติน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา และภายหลังจากการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย รวมถึงจากการที่ไทยมีบทบาทนำในอาเซียน โดยเฉพาะการที่ไทยเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงของอาเซียน หรือ ASEAN Connectivity และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๐๑๕ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องการที่จะมาเยือนประเทศไทย นอกจากนี้ เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เดินทางไปเข้าร่วมเวทีการประชุมต่างๆ ได้แสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงบทบาทการนำของไทยในการรับมือกับสิ่งท้าทายของภูมิภาคและของโลกด้วย เช่น ภัยพิบัติธรรมชาติ รวมถึงภัยแล้ง การสร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น

๖. ในช่วง ๑ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำงานอย่างหนักในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ และขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้เยือนประเทศต่าง ๆ อย่างเป็นทางการมาแล้วกว่า ๒๐ ประเทศ รวมถึงประเทศที่มีบทบาทนำระดับโลก เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย และได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดต่างๆ หลายครั้ง เช่น การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก (UN General Assembly — UNGA) การประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue - ACD) ณ ประเทศคูเวต การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Economic Cooperation — APEC) ณ เมืองวลาดิวอสตอก สหพันธรัฐรัสเซีย การประชุมสุดยอดความมั่นคงทางนิวเคลียร์ (Nuclear Security Summit) ณ สาธารณรัฐเกาหลี และการประชุมผู้นำลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น ( Mekong-Japan Summit) นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ก็ได้เยือนประเทศต่างๆ มาไม่ต่ำกว่า ๓๐ ประเทศเช่นกัน

๗. เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ในการเยือนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีทุกครั้ง ได้มีการเชิญภาคเอกชนของไทยร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการเปิดประตูและส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนในการแสวงหาลู่ทางเพิ่มพูนผลประโยชน์ทางด้านการค้า การลงทุน และส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย นอกจากนี้ ก็เป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศต่างๆ ต่อประเทศไทย และเป็นการสร้างความมั่นใจถึงการดำเนินนโยบายและการบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน

๘. โดยสรุป การที่มีผู้นำประเทศต่างๆ มาเยือนไทย และการได้พบปะกับนายกรัฐมนตรี นั้น เป็นเพราะประชาคมระหว่างประเทศให้การยอมรับและมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลปัจจุบัน รวมถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ดีขึ้น ซึ่งคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นผลสำเร็จของการดำเนินงานของรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ