ด้วยวานนี้ (๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนการยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ตามที่ได้รับข้อมูลจากนาง Fatou Bensouda อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ ทั้งนี้ รายละเอียดกระบวนการและขั้นตอนปรากฏตามเอกสารข้อมูลแนบมาพร้อมนี้
สรุปสาระสำคัญของการหารืออย่างเป็นทางการระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ
1. เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน 2555 นาง Fatou Bensouda อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ(International Criminal Court — ICC) ซึ่งเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อเข้าร่วมประชุมสมาคมอัยการระหว่างประเทศ (International Association of Prosecutors —IAP) ได้เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหารือความร่วมมือทั่วไประหว่างไทยกับ ICC รวมถึงกรณีที่ก่อนหน้านี้ มีกลุ่มบุคคลบางฝ่ายจากไทยไปยื่นคำร้องต่อ ICC ให้พิจารณาเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงในไทย
2. นาง Bensouda ได้ให้ข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับการประกาศยอมรับเขตอำนาจ ICCตามข้อ 12 วรรค 3 ของธรรมนูญกรุงโรมฯ สำหรับประเทศที่ยังไม่ได้เป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมฯ ดังนี้
2.1 ICC มีเขตอำนาจพิจารณาการกระทำที่เป็นความผิดอาชญากรรมร้ายแรง 4 ประเภท ได้แก่ (1) อาชญากรรมสงคราม (2) อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (3) อาชญากรรมอันเป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ และ (4) อาชญากรรมอันเป็นการรุกรานทั้งนี้ สำหรับกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงในไทยนั้น นาง Bensouda เห็นว่าอาจจะพิจารณาว่าเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่ทั้งนี้ ต้องพิจารณาว่ามีองค์ประกอบอาชญากรรมดังกล่าวหรือไม่ อาทิ เป็นการกระทำอย่างกว้างขวาง หรืออย่างเป็นระบบ
2.2 ประเทศที่ประกาศยอมรับเขตอำนาจ ICC เฉพาะกรณี สามารถระบุยอมรับเขตอำนาจ ICC โดยกำหนดกรอบ (scope) ไว้ในคำประกาศได้ เช่น ช่วงเวลา เหตุการณ์ และพื้นที่ เป็นต้น แต่จะต้องยึดหลักความเป็นกลางและไม่เลือกประติบัติ(objectivity) ทั้งนี้ หลักสำคัญ ในการพิจารณาของ ICC จะมุ่งดำเนินคดีกับผู้สั่งการโดยตรง (giving direct order) และ/หรือผู้รับผิดชอบที่แท้จริง (bearing the ultimate responsibility)
2.3 การประกาศยอมรับเขตอำนาจ ICC เป็นขั้นตอนแรกที่เปิดโอกาสให้ ICC ได้เข้ามาทำการตรวจสอบในเบื้องต้น (preliminary examination) ว่า ICC จะมีอำนาจพิจารณากรณีนั้นๆ หรือไม่
2.4 การประกาศยอมรับเขตอำนาจ ICC ไม่ได้บ่งชี้ว่าประเทศที่ประกาศยอมรับนั้นไม่สามารถดำเนินกระบวนการยุติธรรมภายในของตนได้ โดย ICC มีบทบาทเพียงเสริม(complementarity) ศาลภายในประเทศเท่านั้น กระบวนการยุติธรรมของ ICC จะเข้ามาดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อปรากฏว่ากระบวนการยุติธรรมภายในประเทศไม่สามารถ (unable) ดำเนินการ หรือไม่สมัครใจ (unwilling) ที่จะดำเนินการ หรือไม่ได้ดำเนินการอย่างแท้จริง (ingenuine)
2.5 ประเทศที่ประกาศยอมรับเขตอำนาจ ICC จะต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับ ICC อย่างไรก็ดี หากประกาศยอมรับเขตอำนาจ ICC โดยที่ประเทศนั้นยังไม่มีกฎหมายรองรับธรรมนูญกรุงโรมฯ(กฎหมายที่ให้อำนาจแก่หน่วยงานด้านอาญาให้สามารถให้ความร่วมมือแก่ ICC) ประเทศนั้นก็สามารถระบุในคำประกาศได้ว่า อาจยังไม่มีกฎหมายรองรับครบถ้วน และหากมีความจำเป็น ก็จะดำเนินการให้มีกฎหมายรองรับต่อไป
นอกจากนี้ หลังการประกาศยอมรับเขตอำนาจ ICC แล้ว ICC จะดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้น(preliminary examination) โดยปกติจะใช้เวลาค่อนข้างนาน ก่อนที่ศาลฯ จะเริ่มการสืบสวนสอบสวน (open an investigation) ซึ่งถือว่าเข้าสู่ขั้นตอนที่ประเทศที่ประกาศยอมรับจะต้องให้ความร่วมมือกับสำนักงานอัยการ ICC ดังนั้น ประเทศที่ประกาศยอมรับจะมีเวลามากพอสมควรที่จะเตรียมการแก้ไขกฎหมายรองรับดังกล่าว
2.6 นาง Bensouda มีความเห็นว่า การจัดทำประกาศยอมรับเขตอำนาจ ICC ตามข้อ 12 วรรค 3 ของธรรมนูญกรุงโรมฯ มีขอบเขตจำกัด จึงไม่ใช่สนธิสัญญา แต่เป็นการแสดงเจตนาของรัฐนั้นที่ทำให้อัยการ ICC มีอำนาจวิเคราะห์กรณีที่เกิดขึ้น เหมือนเป็นการเปิดประตูให้แก่ ICC และอัยการ ICC พิจารณาคดี ซึ่งจะจำกัดเฉพาะบางสถานการณ์เท่านั้น
ทั้งนี้ ประเทศที่ประกาศยอมรับเขตอำนาจ ICC อาจถอนคำประกาศในภายหลังได้เพราะไม่ใช่สนธิสัญญา แต่เป็นการประกาศฝ่ายเดียว (แต่ไม่ใช่การถอนคำประกาศระหว่างที่ ICC กำลังพิจารณาคดีของประเทศนั้นๆ อยู่) ที่ผ่านมายังไม่เคยมีประเทศใดที่ประกาศยอมรับเขตอำนาจ ICC แล้วถอนคำประกาศภายหลัง
ในส่วนของไทยนั้น การจะประกาศยอมรับเขตอำนาจ ICC หรือไม่ และการประกาศฯ จะมีขั้นตอนอย่างไร เป็นเรื่องที่อยู่ในการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาล
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--