นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ตามคำเชิญของนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร บริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ
ในการเยือนสหราชอาณาจักรครั้งนี้ มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส และผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของไทยร่วมคณะนายกรัฐมนตรีไปด้วย
เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ นายกรัฐมนตรีของไทยได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร และเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้หารือทวิภาคีและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วม ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาคและระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายแสดงความพึงพอใจต่อปฏิสัมพันธ์และกิจกรรมที่เพิ่มพูนขึ้นในทุกระดับและทุกมิติ และเห็นพ้องที่จะยกระดับความสัมพันธ์ที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ดังกล่าว ผู้นำทั้งสองตกลงที่จะจัดตั้ง “การหารือเชิงยุทธศาสตร์” (Strategic Dialogue) เพื่อเป็นเวทีหารือทวิภาคีระดับสูงระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศของฝ่ายไทยและฝ่ายสหราชอาณาจักร ที่จะติดตามและกำหนดทิศทางความร่วมมือระหว่างกันในทุกด้าน กลไกใหม่นี้ ยังจะเป็นเวทีให้ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนทัศนะในประเด็นในภูมิภาคและพหุภาคีที่มีความสนใจร่วมกัน โดยจะจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและสลับกันเป็นเจ้าภาพ ในการนี้ เพื่อส่งเสริมกลไกดังกล่าวยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการหารือเชิงยุทธศาสตร์ครั้งแรกขึ้น
ในห้วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายจะเห็นชอบร่วมกันต่อไป
นายกรัฐมนตรีทั้งสอง ยังยินดีกับการขยายตัวของการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยมีองค์กรภาค เอกชนของสหราชอาณาจักรในประเทศไทย ซึ่งตั้งฐานอยู่ในประเทศมานาน และมีบทบาทสำคัญเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการขยายตัวนี้ และส่งผลให้สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าอันดับสองและเป็นหนึ่งในสามประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่มาลงทุนในประเทศไทยสูงสุด ฝ่ายสหราชอาณาจักรยินดีที่ภาคเอกชนไทยสนใจขยายการลงทุนในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นเช่นกัน ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังแสดงความยินดีกับความคืบหน้าของการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป และแสดงความเชื่อมั่นว่า
การเริ่มเจรจาโดยเร็วจะเป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย
ผู้นำทั้งสองยังยืนยันความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน ทั้งในระดับภาครัฐและภาคเอกชนในสาขาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือกันในการแบ่งปันความเชี่ยวชาญและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการป้องกันอุทกภัย และในการนี้ สหราชอาณาจักรได้สนับสนุนการเดินทางไปเข้าร่วมการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยในด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงจากอุทกภัยที่มหาวิทยาลัยแครนฟิลด์
ผู้นำทั้งสองตกลงที่จะส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชนของทั้งสองประเทศ เพื่อไปสู่จุดหมายดังกล่าว นายกรัฐมนตรีของไทยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความปลอดภัยและอัธยาศัยอันดีแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และเพื่อเพิ่มจำนวนของการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน นายกรัฐมนตรีสหราช-อาณาจักรได้ประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ นักเรียนนักศึกษาไทยจะสามารถใช้บริการช่องทางเร่งด่วนสำหรับการยื่นขอรับการตรวจลงตรา ซึ่งเปิดให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่แล้วด้วย
ผู้นำทั้งสองชื่นชมกับการขยายตัวของความร่วมมือด้านการศึกษา โดยเฉพาะใน ๒ โครงการที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของไทยและบริติชเคาน์ซิลในโครงการผู้ช่วยสอนภาษาอังกฤษ (English Teaching Assistance Program) และโครงการจัดทำสื่อการเรียนการสอนภาษา อังกฤษสำหรับคอมพิวเตอร์พกพา ซึ่งรัฐบาลจัดหาให้สำหรับนักเรียนประถมศึกษา (English Language Application for tablet PCs) ทั้งสองฝ่ายมั่นใจว่าความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยความพร้อมให้กับบุคลากรของไทยในการก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนในปี ค.ศ. ๒๐๑๒ นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังยินดีกับพัฒนาการด้านการเมืองและเศรษฐกิจของเมียนมาร์ พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ประชาคมโลกจะต้องส่งเสริมให้การพัฒนาในเมียนมาร์ดำเนินต่อไป
ผู้นำทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และรับทราบถึงพลวัตและศักยภาพทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีประชากรถึง ๖๐๐ ล้านคน รวมทั้งศักยภาพของประเทศไทยในฐานะประตูสู่ภูมิภาคอาเซียนสำหรับสหราชอาณาจักร ตลอดจนบทบาทของสภาธุรกิจสหราชอาณาจักร-อาเซียน ที่จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนในภูมิภาค
ด้วยค่านิยมที่คล้ายคลึงกันของไทยและสหราชอาณาจักร ผู้นำทั้งสองฝ่ายจึงตกลงที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ของโลก เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การต่อต้านการก่อการร้าย ความมั่นคงทางทะเล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะสนับสนุนความพยายามในการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติและหน่วยงานหลักขององค์การสหประชาชาติ ที่กำลังดำเนินอยู่ เพื่อช่วยให้องค์การสหประชาชาติมีความเป็นประชาธิปไตย โปร่งใส และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประเทศไทยชื่นชมบทบาทของสหราชอาณาจักรในกระบวนการพัฒนากรอบการดำเนินการที่สืบเนื่องจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) และความพร้อมที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกในการมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว
ท้ายที่สุด นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวขอบคุณรัฐบาลและประชาชนของสหราชอาณาจักร ที่ให้การต้อนรับคณะอย่างอบอุ่น พร้อมทั้งได้เรียนเชิญให้นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรเดินทางเยือนประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ด้วย
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--