เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในโอกาสเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ASEAN Ministerial Meeting) การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community) และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Council) ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
๑) ทะเลจีนใต้ — ในระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำ (working dinner) เมื่อคืนวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ที่ประชุมได้ชมเชยไทยในฐานะประเทศผู้ประสานความสัมพันธ์กับจีน ที่ได้ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นระหว่างอาเซียนกับจีน อันเป็นผลจากการจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน — จีน เมื่อวันที่ ๒๘ — ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๕ ที่พัทยา พร้อมแสดงความเชื่อมั่นและความหวังว่าไทยจะผลักดันความร่วมมืออาเซียน — จีน และพัฒนาการของความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายในประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้ ซึ่งเห็นพ้องกันควรเร่งดำเนินการตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea - DOC) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันให้มากขึ้น
๒) สถานการณ์ในรัฐยะไข่ของเมียนมาร์ — ในระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำ รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาร์ได้แจ้งถึงความพยายามของรัฐบาลเมียนมาร์ที่จะคลี่คลายสถานการณ์ในรัฐยะไข่ โดยที่ประชุมรวมทั้งไทย ได้แสดงความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการของรัฐบาลเมียนมาร์ และพร้อมจะให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม อีกทั้งไม่ประสงค์จะให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ
๓) ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดตั้งสถาบันอาเซียนเพื่อสันติภาพและความสมานฉันท์ และจัดตั้งศูนย์ทุนระเบิดภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค
๔) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Human Right Declaration — AHRD)- โดยคำนึงว่ามีบางฝ่ายกังวลว่าปฏิญญานี้อาจจะไม่เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศได้แจ้งว่า แม้ว่าการยกร่างปฏิญญาดังกล่าวจะแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย แต่ปฏิญญานี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยอาเซียนควรร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคให้ได้เทียบเท่ามาตรฐานระหว่างประเทศ
๕) ที่ประชุมได้มีการหารือถึงความสนใจของหลายประเทศที่จะเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in South East Asia — TAC) ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องกับไทยว่า การพิจารณาการขอเข้าร่วมเป็นภาคีควรยึดตามแนวทางสำหรับการเข้าเป็นภาคี TAC เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๗๖ โดยปัจจุบันมีภาคีถึง ๓๑ ประเทศแล้ว ซึ่งบราซิลได้ภาคยานุวัติอย่างเป็นทางการในครั้งนี้
๖) นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การบริหารจัดการภัยพิบัติ ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพร่วมกับเกาหลีจัดการฝึกร่วมรับมือภัยบัติระหว่างพลเรือนและหน่วยงานทางทหาร ครั้งที่ ๓ ที่หัวหินในปีหน้า ความร่วมมือเพื่อต่อต้าน การค้ามนุษย์ ไทยได้ยกร่างแผนปฏิบัติการภูมิภาคว่าด้วยการค้ามนุษย์ ในส่วนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านยาเสพติด เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๕ ที่กรุงเทพฯ
๗) สำหรับการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ACC) ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะทำงานระดับสูง (High Level Task Force) เพื่อรับทราบการดำเนินงานของอาเซียน หลังจากการที่กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้แล้ว ๓ ปี รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าของการพิจารณาความพร้อมของติมอร์-เลสเต ในการสมัครสมาชิก ซึ่งการพิจารณายังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ นอกจากนี้ ได้มีการพิจารณารับรองผู้สมัครในตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนคนใหม่ คือ นาย Le Luong Minh อดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศเวียดนาม
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--