เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๖ ก่อนหน้าเข้าร่วมการประชุมคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของไทย ครั้งที่ ๑/๒๕๕๖ ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพื่อชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับความคืบหน้ากรณีกัมพูชายื่นขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕ และการดำเนินการของรัฐบาลไทย โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
๑. กลไกของรัฐบาลไทยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคดีปราสาทพระวิหารประกอบด้วย ๔ กลไก ได้แก่ (๑) คณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของไทย ซึ่งทำหน้าที่หารือแนวทางการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีกับที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นทนายความของฝ่ายไทย เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ องค์ประกอบของคณะดำเนินคดีฯ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้แทนจากกองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กรมแผนที่ทหาร สำนักงานอัยการสูงสุด และ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก เป็นตัวแทนของไทยในการต่อสู้คดี (๒) คณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาอนุสัญญาต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลไกระดับชาติ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของไทย ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาควิชาการ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและกลั่นกรองความเห็นก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ (๓) คณะที่ปรึกษากฎหมายกลุ่มเล็ก ตั้งขึ้นโดยนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายเช่นกัน (๔) คณะทำงานร่วมไทย — กัมพูชา (Joint Working Group — JWG) ซึ่งเป็นกลไกหลักในการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลโลกร่วมกันของทั้งสองประเทศ โดยมี พลเอกวรพงษ์ สง่าเนตร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย
๒. ตัวแทนของไทยในการต่อสู้คดีในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คือ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งในสมัยที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ส่วนตัวแทนของกัมพูชาคือ นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา โดยล่าสุด ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้กำหนดให้มีการอธิบายทางวาจาเพิ่มเติมระหว่างวันที่ ๑๕ — ๑๙ เมษายน ๒๕๕๖ หลังจากนั้น คาดว่าศาลฯ จะมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวในช่วงปลายปี ๒๕๕๖
๓. กระทรวงการต่างประเทศตระหนักดีกว่าประเด็นปราสาทพระวิหารเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของประชาชน กระทรวงฯ จึงจะดำเนินการเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้องผ่านทุกช่องทาง เพื่อไม่ให้ประเด็นปราสาทพระวิหารถูกหยิบยกไปใช้เป็นประเด็นทางการเมืองได้ ทั้งนี้ รัฐบาลยินดีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ เสมอ
๔. สำหรับคำตัดสินของศาลฯ นั้น อาจเป็นไปได้หลายแนวทาง แต่อย่างไรก็ดี ตัวปราสาทพระวิหารไม่เกี่ยวข้องกับคดีปัจจุบันแต่ประการใด เนื่องจากศาลฯ ได้ตัดสินว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ ส่วนประเด็นที่ศาลจะพิจารณาในครั้งนี้คือเรื่องที่กัมพูชาขอให้ตีความว่าบริเวณใกล้เคียง (Vicinity) ของปราสาทพระวิหารหมายถึงพื้นที่ใด
๕. โดยส่วนตัว มีความมั่นใจในคณะสู้คดีและข้อต่อสู้ทางกฎหมายของฝ่ายไทย แต่ขอให้ประชาชนเข้าใจว่าไม่ควรคาดการณ์คำตัดสินของศาลฯ ดังนั้นจึงไม่สามารถตอบได้ว่าคำตัดสินจะออกมาในลักษณะใด อย่างไรก็ดี ต่อข้อกังวลของบางฝ่ายในไทยว่าหากผลการตัดสินของศาลฯ ในปลายปี ๒๕๕๖ ไม่เป็นคุณต่อไทย รัฐบาลไทยจะต้องปฏิบัติตามหรือไม่ นั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า รัฐบาลจะรับฟังเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ว่าต้องการให้ปฏิบัติอย่างไร ไม่ใช่ความเห็นของคนเพียงบางกลุ่มที่มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักเหตุผลที่ถูกต้อง และย้ำว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ และไม่ต้องการให้ประเด็นปราสาทพระวิหารถูกใช้เป็นประเด็นทางการเมืองเพื่อสร้างความวุ่นวายภายในประเทศและโค่นล้มรัฐบาล เช่นในอดีต
ในวันเดียวกันนี้ ภายหลังการประชุมคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของไทย ครั้งที่ ๑/๒๕๕๖ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก และตัวแทนประเทศไทยในกรณีกัมพูชาขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเพิ่มเติม สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
๑. คดีในครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับตัวปราสาทพระวิหาร ซึ่งได้รับการตัดสินว่าเป็นของกัมพูชาไปแล้ว หากแต่เกี่ยวกับพื้นที่บริเวณใกล้เคียงโดยรอบปราสาทพระวิหาร
๒. รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนคณะดำเนินคดีอย่างเต็มที่ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลและกลไกที่ใช้การต่อสู้คดีซึ่งตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้วแต่อย่างใด
๓. เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นสำคัญ ไม่มีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง และไม่มีการสมยอมอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ การสู้คดีเป็นไปตามหลักวิชากฎหมายระหว่างประเทศทุกประการ
๔. ผลลัพธ์ของคดีนั้น ไม่ควรคิดว่าเป็นเรื่องแพ้ — ชนะ หากแต่เป็นเรื่องคดีความที่อาจมีคำตัดสินในหลายทาง คือ (๑) ศาลฯ ตัดสินว่าไม่มีอำนาจพิจารณา และจำหน่ายคดี (๒) ศาลฯ ตัดสินตามท่าทีฝ่ายไทย คือ ให้ขอบเขตบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นไปตามเส้นมติคณะรัฐมนตรีปี ๒๕๐๕ (๓) ศาลฯ ตัดสินตามท่าทีฝ่ายกัมพูชา คือ ให้ขอบเขตบริเวณปราสาทเป็นไปตามแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ และ (๔) ศาลฯ อาจตัดสินกลาง ๆ ระหว่างท่าทีของทั้งสองฝ่าย โดยพิจารณาจากหลักฐานประกอบต่าง ๆ ทั้งนี้การคาดเดาผลล่วงหน้าว่าศาลฯ จะตัดสินออกมาในแนวทางใดทำได้ยาก เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่อสู้โต้ตอบกันอย่างเต็มที่ จึงไม่ควรด่วนสรุป และทั้งสองฝ่ายจะต้องเคารพคำตัดสินของศาลฯ
๕. ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวย้ำว่า กระทรวงการต่างประเทศและคณะที่ปรึกษาดำเนินคดีฯ มีความเชื่อมั่นในข้อต่อสู้ของไทย อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคำตัดสินของศาลฯ จะออกมาเป็นอย่างไร ทั้งไทยและกัมพูชาก็ต้องปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเราต่างเป็นสมาชิกของสังคมระหว่างประเทศจึงต้องเคารพกฎกติการะหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยังต้องการมีความสัมพันธ์และค้าขายกับประเทศต่าง ๆ ในสังคมโลก เอกอัครราชทูตวีรชัยฯ กล่าวเสริมว่า หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลฯ กฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ ๙๔ มีกลไกบังคับคดีโดยระบุให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสามารถออกมาตรการที่เหมาะสมมาบังคับได้ ในอดีตที่ผ่านมา ทุกประเทศที่มีคดีขึ้นสู่ศาลฯ และศาลฯ ได้มีคำพิพากษาก็ล้วนปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฯ ในที่สุดทั้งสิ้น
๖. ประเด็นปราสาทพระวิหารนี้ยังคงมีเวลาอยู่และการดำเนินการยังไม่ถึงที่สุด โดยศาลฯ กำหนดให้มีการแถลงทางวาจาเพิ่มเติมในเดือนเมษายน ๒๕๕๖ นี้ การแถลงทางวาจาดังกล่าวมีความสำคัญมาก คณะกฎหมายของไทยได้เตรียมการอย่างรัดกุมรอบคอบตลอดมา อีกทั้งยังมีความพร้อมและตั้งใจสู้คดีอย่างเต็มที่
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--