ด้วยนายฌอง-มาร์ค เอโรต์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฝรั่งเศส มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ ๔ - ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ตามคำเชิญของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยคณะของนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฝรั่งเศสจะประกอบด้วยบุคคลระดับสูงในสาขาต่าง ๆ อาทิ รัฐมนตรีและนักธุรกิจชั้นนำ และในระหว่างการเยือน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฝรั่งเศสจะเข้าพบหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ และกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งเป็นประธานเปิดการสัมมนาทางธุรกิจไทย -ฝรั่งเศส และพบปะชุมชนชาวฝรั่งเศสในประเทศไทยด้วย
การเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของผู้นำฝรั่งเศสในรอบ ๗ ปี โดยล่าสุด นายฌาคส์ ชีรัค อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส เคยเดินทางเยือนไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี ๒๕๔๙ นอกจากนี้ การเยือนของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสยังเกิดขึ้นภายในเวลาเพียง ๖ เดือน หลังจากที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕ ถือเป็นการเน้นย้ำพันธสัญญาของทั้งสองประเทศที่จะส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ซึ่งริเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ เป็นต้นมา และเป็นพัฒนาการความสัมพันธ์ไทย - ฝรั่งเศส นับจากที่ทั้งสองฝ่ายได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในศตวรรษที่ ๑๗
การเยือนของนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฝรั่งเศสจะช่วยต่อยอดผลการเยือนฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเฉพาะการส่งเสริมการเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ เพื่อร่วมกันสร้างความเจริญเติบโตและการจ้างงาน ซึ่งในชั้นนี้ คาดว่าการหารือของผู้นำทั้งสองฝ่ายจะเน้นเรื่องการแสวงหาโอกาสทางการค้า การลงทุน และความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาและวิจัย และพลังงานทดแทน
ปัจจุบัน ฝรั่งเศสมีการลงทุนในประเทศไทยสูงเป็นอันดับ ๘ ของการลงทุนจากภูมิภาคยุโรป ในขณะที่บริษัทของไทยก็เริ่มได้เข้าไปลงทุนในฝรั่งเศสในสาขาต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหารทะเล โดยบริษัท Thai Union Frozen Products PCL และอุตสาหกรรมพลาสติก โดยกลุ่มบริษัท PTT Global Chemical เป็นต้น มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยและฝรั่งเศสในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน ๒๕๕๕ เท่ากับ ๔,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในฐานะที่ทั้งสองประเทศต่างมีบทบาทสำคัญในสหภาพยุโรปและอาเซียน รวมทั้งสหประชาชาติ จึงหวังว่าจะได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พัฒนาการของการสร้างความมั่งคั่งและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ในบริบทของประชาคมอาเซียน การเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และพัฒนาการในเอเชียแปซิฟิก ยุโรป และสหภาพยุโรป สำหรับประเด็นระหว่างประเทศ อาจมีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการรับมือกับประเด็นที่เป็นสิ่งท้าทายของโลก อาทิ การลดช่องว่างของระดับการพัฒนาระหว่างประเทศต่าง ๆ การเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสหประชาชาติด้วย
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--