เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๖ นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเด็นที่สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลการวิจัยเชิงสำรวจ ซึ่งพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ ๘๒.๕ รู้สึกว่าข้อมูลเกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหารที่รัฐบาลให้แก่ประชาชนยังไม่มีความชัดเจน รองปลัดกระทรวงฯ ได้กล่าวขอบคุณสำนักวิจัยฯ สำหรับผลการสำรวจดังกล่าว ซึ่งช่วยสะท้อนให้กระทรวงฯ และรัฐบาลได้รับทราบว่า ควรดำเนินการเพิ่มเติมอย่างไร ทั้งนี้ คดีปราสาทพระวิหารมีความซับซ้อน เกี่ยวข้องกับกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงอาจยากที่จะเข้าใจ กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ผลิตสื่อให้ความรู้หลายรูปแบบ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนทุกระดับ ได้แก่ (๑) กลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจดีอยู่แล้ว แต่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม (๒) กลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจบ้าง แต่อาจไม่ลึกซึ้งนัก และ (๓) กลุ่มที่ขาดความรู้ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ติดตาม แต่สนใจจะเรียนรู้เพิ่มเติม
นอกจากนี้ รองปลัดกระทรวงฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา กระทรวงฯ เน้นการปูพื้นความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความเป็นมาของคดีฯ เหตุผลที่ไทยต้องต่อสู้คดีฯ และการดำเนินการของไทยในข้อต่อสู้คดี ฯลฯ โดยได้จัดทำและเผยแพร่หนังสือ “ข้อมูลที่ประชาชนไทยควรทราบเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหาร และการเจรจาเขตแดนไทย-กัมพูชา” เอกสารแผ่นพับสรุปความคืบหน้าของคดีฯ ซึ่งได้แจกจ่ายให้กับหน่วยงานและผู้สนใจแล้ว และล่าสุด จะจัดทำหนังสือ “๕๐ ปี ๕๐ ประเด็นถาม-ตอบ กรณีปราสาทพระวิหาร” ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ และคาดว่าจะแจกจ่ายเอกสารดังกล่าวได้ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ. ๕๖ ผ่านทางประชาสัมพันธ์จังหวัด ทุกจังหวัด หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค หน่วยงานต่าง ๆ ของกองทัพ บรรณาธิการสื่อต่าง ๆ อย่างไรก็ดี ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารดังกล่าวได้แล้วตั้งแต่วันที่ ๒๘ ม.ค. ๒๕๕๖ เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์ของกระทรวงฯ ที่ www.mfa.go.th/phraviharn รวมถึงชม/อ่านสื่อเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมดที่กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำ หรือติดต่อขอรับเอกสารดังกล่าวได้ที่กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ อีเมลthaimfa0903@gmail.com
นอกจากนี้ กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือการ์ตูนและสารคดีโทรทัศน์เพิ่มเติม รวมทั้งมีโครงการจัดหรือเข้าร่วมการสัมมนาต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและในภูมิภาค เพื่อเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้แก่ข้าราชการและประชาชนที่สนใจ โดยสำหรับในส่วนภูมิภาคนั้น จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับจังหวัดในภาคอีสานตอนใต้ ซึ่งที่ผ่านมา ประชาชนมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องปราสาทพระวิหารอย่างมาก เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาข้อพิพาทชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชามากที่สุด
ในส่วนการปฏิสัมพันธ์กับสื่อมวลชน กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับการพบปะหารือกับสื่อทุกแขนง และมีแผนงานให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์และวิทยุต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล/ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความคืบหน้าของคดีฯ และการดำเนินการของทางการไทย ทั้งนี้ เพื่อให้สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ มีความเข้าใจและช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลสู่สาธารณชนต่อไป
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--