กระทรวงการต่างประเทศจัดสัมมนาเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนให้แก่จังหวัดทางภาคเหนือตอนล่างของไทย

ข่าวต่างประเทศ Tuesday February 12, 2013 13:20 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จัดการสัมมนาเรื่อง “การเติบโตของจีนต่อโอกาสทางเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนล่างและภูมิภาค” ณ อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก การสัมมนาฯ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ China Watch ของกรมเอเชียตะวันออกที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ส่วนท้องถิ่น เพื่อเตรียมพร้อมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน

การสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมบรรยายและเสวนาหลายท่าน ได้แก่ นายวิบูลย์ คูสกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำจีน นายกว่าน มู่ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ดร. ปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และผู้แทนภาคเอกชนจังหวัดพิษณุโลกเข้าร่วมด้วย โดยมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นผู้ดำเนินการเสวนา และยังได้รับเกียรติจากนายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกกล่าวเปิดการสัมมนา โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาประมาณ ๔๐๐ คน จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และวิชาการ ทั้งจากพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง

เอกอัครราชทูตวิบูลย์ฯ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “การเติบโตของจีนกับโอกาสและความท้าทายต่อไทยและภูมิภาคอาเซียน” โดยย้ำความสำคัญของการเชื่อมโยงในภูมิภาคที่จะมีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งช่วยเปลี่ยนแนวความคิดของการดำเนินธุรกิจในภูมิภาค ในส่วนของจีน มีการดำเนินการเพื่อเชื่อมโยงมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นระบบภายใต้นโยบาย “ก้าวออกสู่ภายนอก” ซึ่งไทยมีความได้เปรียบ เนื่องจากเส้นทางเชื่อมโยงเกือบทุกเส้นทางต้องผ่านประเทศไทย โดยเฉพาะสี่แยกอินโดจีนที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นจุดตัดของระเบียงเศรษฐกิจเหนือ — ใต้และตะวันออก - ตะวันตก อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญในการดำเนินนโยบายทางการทูต คือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และจะต้องมีการจัดสรรผลประโยชน์ของประเทศในภูมิภาคอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ใหม่ที่สำคัญในตลาดจีน ได้แก่ ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่มีจำนวนมากถึง ๕๖๔ ล้านคน ดังนั้น ข่าวสารทุกอย่างจึงแพร่กระจายรวดเร็วและทั่วถึงทั้งด้านดีและไม่ดี ซึ่งก็เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่ต้องพึงระวังสำหรับไทย โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยกล่าวปาฐกถาหัวข้อ “บทบาทของจีนต่อโครงการความเชื่อมโยงในภูมิภาคและความร่วมมือทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง” โดยย้ำว่า มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ๕ มณฑลมีศักยภาพสูงเนื่องจากมีประชากรรวมถึงกว่า ๒๐๐ ล้านคน สามารถเป็นทั้งฐานการผลิตและตลาด และความเชื่อมโยงกับอาเซียนจะผ่านไทยทุกเส้นทาง และเปิดทางให้ภาคตะวันตกของจีนเชื่อมได้กับทั้งสองมหาสมุทร ซึ่งท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายก็จะมีความสำคัญมาก ในขณะที่พิษณุโลกเองในฐานะที่เป็นสี่แยกของระเบียงเศรษฐกิจจะต้องเตรียมศักยภาพของตนให้พร้อมไว้ ทั้งนี้ ในการพัฒนารถไฟในช่วงระยะ ๕ - ๖ ปีที่ผ่านมา จีนมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงระยะทาง ๑๐,๐๐๐ กิโลเมตร โดยเส้นทางปักกิ่ง — กว่างโจวระยะทาง ๒,๐๐๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ๘ ชั่วโมง ซึ่งทำให้มีความสะดวกและประหยัดเวลาในการเดินทางมากขึ้น ดังนั้น จีนจึงพร้อมที่จะเข้าร่วมการประมูลโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงในประเทศไทย ซึ่งสำหรับสายเชียงใหม่ที่ได้มีการศึกษาว่าจะมีระยะทาง ๖๘๐ กิโลเมตร จะใช้เวลาเพียง ๒-๓ ชั่วโมงในการเดินทาง ส่วนสายเชื่อมกรุงเทพฯ -หนองคาย สามารถต่อไปยังลาวได้โดยจะมีขอนแก่นเป็นศูนย์กลางที่สำคัญเช่นเดียวกับพิษณุโลก

รองเลขาธิการ สศช. ได้ให้ข้อมูลว่า การสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงจะช่วยทำให้อุปสงค์โดยรวมเพิ่มขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมา ไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญ ๓ เส้นทางได้แก่ เหนือ - ใต้ ตะวันออก - ตะวันตก และใต้ - ใต้ ซึ่งมีร้อยละ ๘๐ ของโครงข่ายอยู่ในไทย แต่ต่อไปก็จะมีการพัฒนาเส้นทางอื่น ๆ มากขึ้นให้เป็น ๘ - ๙ เส้นทางด้วยกัน โดยคาดว่า เมื่อแล้วเสร็จน่าจะเพิ่มมูลค่าการค้าได้อย่างมาก ซึ่งสิ่งสำคัญคือการเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานส่วนที่ยังขาด และขจัดปัญหาอุปสรรคที่ภาคธุรกิจเผชิญเพื่อเปลี่ยนจากระเบียงการขนส่งให้กลายเป็นระเบียงทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ โดยพิษณุโลกในฐานะที่เป็นศูนย์กลางเครือข่าย สามารถมีบทบาทเป็นศูนย์การกระจายสินค้าได้ ในขณะที่จังหวัดอื่น ๆ ที่เส้นทางผ่านก็สามารถสร้างจุดขายและมูลค่าเพิ่มให้แก่ตนเอง เช่น ศูนย์กลางธุรกิจ การบริการ และสาธารณสุข เป็นต้น

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ