ด้วยเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพเกี่ยวกับสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ในช่วงที่ผ่านมา ปรากฏรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในสื่อมวลชนไทย ซึ่งมี ความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง จึงขอชี้แจง ดังนี้
๑. ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นต่อร่างเอกสารภาษาอังกฤษที่ได้มีการลงนามระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติกับผู้แทนกลุ่ม BRN Coordinate โดยรอบคอบ ทั้งนี้ เอกสารฯ เขียนชัดเจนว่า เป็นการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มที่มีความคิดเห็นและอุดมการณ์แตกต่างไปจากรัฐ ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ล้อมาจากนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. ๒๕๕๕ — ๒๕๕๗) ข้อที่ ๘ วงเล็บ ๒ กล่าวคือ “ส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ...ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้เสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพและเพิ่มความร่วมมือกับต่างประเทศ หรือองค์กรที่มิใช่ภาครัฐ เพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุยดังกล่าว” ซึ่งได้ผ่านการอภิปรายและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ระหว่างวันที่ ๒๘ — ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๕ โดยการพูดคุยต้องเป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุชัดเจนว่า การแบ่งแยกดินแดนเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า การลงนามนำไปสู่การพูดคุยกับกลุ่มที่มีความเห็นและอุดมการณ์ต่างไปจากรัฐเท่านั้น มิได้เป็นการเจรจาหรือยกระดับกลุ่มที่เข้าร่วมการพูดคุย ตามที่ปรากฏในสื่อแต่อย่างใด
๒. จากผลการหารือระหว่างนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย กับนาย Najib Razak นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ฝ่ายมาเลเซียได้มีท่าทีที่ชัดเจน ว่า ๑) ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ๒) ไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน และ ๓) ไม่ให้ที่พักพิงกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
๓. ในระหว่างการเยือนสวีเดนและเบลเยียมของนายกรัฐมนตรี ผู้นำทั้งสองประเทศและสหภาพยุโรป กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีสวีเดน ประธานรัฐสภาสวีเดน นายกรัฐมนตรีเบลเยียม ประธานสภายุโรป ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและประธานคณะมนตรียุโรป ต่างกล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทย ที่ได้มีการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มผู้ก่อความรุนแรง
๔. รัฐบาลชุดปัจจุบันมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขปัญหาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ และขอยืนยันว่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการทุกอย่างด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำในเอกสารฯ โดยคำนึงถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและขอให้ทุกฝ่ายตระหนักว่า การดำเนินการเป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญทุกประการ เพื่อให้มีการเริ่มต้นการพูดคุยกับกลุ่มต่าง ๆ ตนขอเรียกร้องให้กลุ่มผู้ก่อความรุนแรงเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน และขอให้พี่น้องประชาชนไทยให้การสนับสนุนรัฐบาลในความพยายามดังกล่าว
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--