การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี — เจ้าพระยา — แม่โขง (ACMECS)

ข่าวต่างประเทศ Thursday March 14, 2013 11:31 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี — เจ้าพระยา — แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับประชุมระดับผู้นำที่จะมีขึ้นในวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๖

รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยประเด็นที่ไทยได้ผลักดัน ได้แก่

๑) การพัฒนาความเชื่อมโยงทั้งโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบ ไทยยืนยันที่จะให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ การเชื่อมเส้นทางในเมียนมาร์จากเมืองกอกะเร็กถึงเมืองเมาะละแหม่ง การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ ๕ (บึงกาฬ-บอริคำไชย) และการยกระดับด่านชั่วคราวเป็นด่านถาวร เช่น จุดผ่านแดนช่องภูดู่ (จ.อุตรดิตถ์-แขวงไชยบุรี สปป.ลาว) และจุดผ่านแดนบ้านหนองเอี่ยน — สตึงบท (จ.สระแก้ว — จ.บันเตียเมียนเจย กัมพูชา) เป็นต้น

๒) การท่องเที่ยว ไทยได้เชิญชวนให้เมียนมาร์ สปป. ลาว และเวียดนามเข้าร่วมโครงการ ACMECS Single Visa ซึ่งไทยและกัมพูชาได้ดำเนินการแล้ว

๓) ความร่วมมือด้านสาธารณสุข ไทยส่งเสริมการพัฒนาด้านสาธารณสุขตามแนวชายแดน และพร้อมให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งสถานีอนามัย ตลอดจนการฝึกฝนและอบรมบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ ไทยยินดีให้ความรู้เกี่ยวกับการโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น โครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค แก่ประเทศสมาชิกที่สนใจ

๔) การเกษตร ไทยจะส่งเสริมการลงทุนเกษตรแบบมีสัญญา (contract farming) สำหรับพืชที่ไทยผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ซึ่งจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องนี้ระหว่างไทยกับ สปป. ลาว โดยมีการจัดตั้งกลไกการหารือร่วมกันระหว่าง ๒ ฝ่ายเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายลงทุนใน สปป.ลาว นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงความร่วมมือเรื่องข้าว เนื่องจากสมาชิก ACMECS เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก โดยประเทศสมาชิกเห็นชอบที่จะมีความร่วมมือ เช่น การจัดทำมาตรฐานร่วม การแบ่งตลาดข้าว ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค

๕) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ไทยเชิญชวนประเทศสมาชิกร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในด้านต่าง ๆ รวมทั้ง การพัฒนาพลังงานทดแทนจากวัสดุอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากพลังงานชีวภาพ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวถึงภารกิจของนายกรัฐมนตรีในระหว่างการประชุมระดับผู้นำว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะพบหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เวียดนาม และรองประธานาธิบดีเมียนมาร์ และจะเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ contract farming และการลงนามบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-กัมพูชาอีกด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ