เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๖ นายมนัสวี ศรีโสดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวเกี่ยวกับการให้การทางวาจาคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕ ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวานนี้ (๑๕ เมษายน ๒๕๕๖) เป็นวันแรก โดยฝ่ายกัมพูชาเริ่มชี้แจงต่อศาลฯ ก่อน
คณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมรับฟังในศาลฯ นำโดย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
การให้การของฝ่ายกัมพูชารอบแรกนี้เริ่มด้วยการกล่าวนำของนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ตามด้วยที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างประเทศอื่น ๆ โดยนำเสนอข้อโต้แย้งเพื่อพยายามหักล้างคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรของฝ่ายไทย สรุปได้ดังนี้
๑) กัมพูชามิได้ขออุทธรณ์คดีหรือประสงค์จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาปี ๒๕๐๕ เพียงแต่ต้องการให้ศาลฯ ชี้ให้ชัดเจนว่า ขอบเขตดินแดนของกัมพูชาและบริเวณใกล้เคียงปราสาทที่ระบุไว้ในคำพิพากษาอยู่ที่ใด
๒) กัมพูชาและไทยมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับคำพิพากษาและอธิบายว่า “แผนที่ภาคผนวก ๑” หรือ “แผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐” เป็นส่วนของเหตุผลสำคัญที่ไม่อาจแยกจากคำพิพากษาเดิมเมื่อปี ๒๕๐๕ ได้ ดังนั้น กัมพูชาจึงอ้างว่า คำขอของกัมพูชาเข้าเงื่อนไขของการขอให้ศาลฯ ตีความคำพิพากษา
๓) การตีความดังกล่าวจะทำไม่ได้หากไม่อ้างอิง “แผนที่ภาคผนวก ๑” แนบท้ายคำฟ้องของกัมพูชาในคดีเดิม ซึ่งกัมพูชาเห็นว่า ศาลฯ ได้ยอมรับแล้วว่าเส้นบนแผนที่ดังกล่าวเป็นเส้นเขตแดนระหว่างกัมพูชากับไทย
๔) การปฏิบัติตามคำพิพากษาของฝ่ายไทยเมื่อปี ๒๕๐๕ เป็นการตีความคำพิพากษาตามความเข้าใจของไทยฝ่ายเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การล้อมรั้วลวดหนามรอบปราสาทพระวิหารตามมติคณะรัฐมนตรีของไทยเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ซึ่งกัมพูชาไม่ยอมรับ
ทั้งนี้ การให้การทางวาจาของฝ่ายกัมพูชาข้างต้นเป็นไปตามที่ฝ่ายไทยได้คาดการณ์ไว้ และเป็นไปตามที่ปรากฏในคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรของฝ่ายกัมพูชาที่ได้ยื่นต่อศาลฯ ก่อนหน้านี้ ไทยจึงไม่หนักใจ แต่อย่างใด และมีความมั่นใจและความพร้อมที่จะหักล้างข้อต่อสู้ของกัมพูชา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฯ เมื่อปี ๒๕๐๕ ซึ่งไทยได้ปฏิบัติตามอย่างครบถ้วนแล้ว โดยจะนำเสนอข้อมูลและเหตุผลซึ่งมีความชัดเจนและมีน้ำหนักต่อศาลในวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๖ ต่อไป
ในวันเดียวกัน นายไกรรวี ศิริกุล รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กล่าวสรุปเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาระสำคัญของถ้อยแถลงฝ่ายกัมพูชา ว่า ๑) ฝ่ายกัมพูชาพยายามโน้มน้าวให้ศาลฯ เห็นว่า ศาลฯ มีอำนาจที่จะตีความคดีในครั้งนี้ เนื่องจากเข้าเงื่อนไขต่างตามกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือ ไทยและกัมพูชา มีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาเดิม ๒) กัมพูชาได้ยกเอกสารหลักฐานหลายชิ้นที่เกิดขึ้นหลังจากคำพิพากษาเพื่อพิสูจน์ว่า กัมพูชาได้คัดค้านรั้วลวดหนามที่ไทยได้ล้อมรอบบริเวณปราสาทพระวิหารเมื่อปี ๒๕๐๕ ตามมติคณะรัฐมนตรีของไทย เพื่อหักล้างข้อต่อสู้ของไทยที่ว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว ๓) กัมพูชายังพยายามโน้มน้าวให้ศาลฯ เห็นว่า ในการตีความคำพิพากษา ศาลฯ สามารถใช้ “แผนที่ภาคผนวก ๑” มาช่วยทำความเข้าใจข้อบทปฏิบัติการของคำพิพากษาได้ เนื่องจากแผนที่ดังกล่าวเป็นเหตุผลสำคัญและจำเป็นที่ศาลฯ ใช้ในการวินิจฉัยคดีเดิม
นายไกรรวีฯ ชี้ว่า ข้อโต้แย้งดังกล่าวเป็นสิ่งที่กัมพูชาเคยหยิบยกหลายครั้งแล้ว และฝ่ายไทยก็ได้คาดหมายและเตรียมข้อต่อสู้ไว้อยู่แล้ว และแม้ว่ากัมพูชาจะโต้แย้งว่าไทยกับกัมพูชามีข้อขัดแย้งกัน ในการตีความคำพิพากษาเดิมและการปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่ที่จริงแล้ว ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาเดิมอย่างถูกต้อง เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำตัดสิน และไม่มีประเด็นใดที่ศาลจะต้องตีความ อย่างไรก็ดี ปัญหาคดีปราสาทพระวิหารได้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้งเพราะฝ่ายกัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว และได้กันพื้นที่อนุรักษ์และบริหารจัดการล้ำเข้ามาในดินแดนไทย
ในการนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามการให้การทางวาจาของฝ่ายไทยได้ในวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๕.๐๐ — ๑๘.๐๐ น. และ ๒๐.๐๐ — ๒๑.๓๐ น. ทาง www.phraviharn.org สถานีโทรทัศน์ กรมประชาสัมพันธ์ (ช่อง ๑๑) หรือทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย FM 92.5 MHz AM 891 KHz และ สถานีวิทยุสราญรมย์ AM 1575 KHz
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--