แถลงการณ์ร่วม การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมอย่างไม่เป็นทางการไทย - ลาว ครั้งที่ ๒

ข่าวต่างประเทศ Monday May 20, 2013 14:03 —กระทรวงการต่างประเทศ

1. การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมอย่างไม่เป็นทางการไทย - ลาว ครั้งที่ 2 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2556 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ราชอาณาจักรไทย ตามคำเชิญของ ฯพณฯ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ภายใต้บรรยากาศของมิตรภาพ ความเข้าใจ และความร่วมมืออันดีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

2. ฯพณฯ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นประธานร่วม และหัวหน้าคณะฝ่ายไทย คณะผู้แทนฝ่ายไทย ประกอบด้วย

(1) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

(2) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

(3) ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี

(4) นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

(5) นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

(6) พลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

(7) นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

(8) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

(9) นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

(10) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

(11) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

(12) นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

(13) นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

(14) พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

(15) พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

(16) พลตำรวจเอกพงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ

(17) นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

(18) นายพิษณุ จันทร์วิทัน เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์

(19) นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

(20) นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

และ ฯพณฯ ทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาว เป็นประธานร่วม และหัวหน้าคณะฝ่ายลาว คณะผู้แทนฝ่ายลาว ประกอบด้วย

(1) ท่าน ดร.ทองลุน สีสุลิด รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

(2) ท่าน ดร.ทองบัน แสงอาพอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันความสงบ

(3) ท่าน ดร.สินละวง คุดไพทูน รัฐมนตรีหัวหน้าห้องว่าการรัฐบาล

(4) ท่านวิไลวัน พมเข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้

(5) ท่าน ดร.นาม วิยะเกด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า

(6) ท่านสมมาด พลเสนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง

(7) ท่าน ศ.ดร.บ่อแสงคำ วงดาลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว

(8) ท่านพูเพ็ด คำพูวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงิน

(9) ท่านนุลิน สินบันดิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(10) ท่านบุนเกิด สังสมสัก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

(11) ท่านจันสะหมอน จันยาลัด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ

(12) ท่านนางใบคำ ขัตติยะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

(13) ท่านกุ จันสีนา รักษาการประธานคณะกรรมการแห่งชาติลาวเพื่อตรวจตราและควบคุมยาเสพติด

(14) ท่านหลี บุนค้ำ เอกอัครราชทูตแห่ง สปป.ลาว ประจำประเทศไทย

3. นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้แสดงความยินดีต่อความสัมพันธ์ มิตรภาพ และความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ สปป.ลาว ที่ได้ขยายตัวเข้าสู่มิติใหม่ในหลายด้าน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ร่วมของการเยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการของ ฯพณฯ พลเอก

เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อเดือนมกราคม 2522 และแถลงการณ์ร่วมของการเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการของ ฯพณฯ ไกสอน พมวิหาน นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาว เมื่อเดือนเมษายน 2522 และสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือปี 2535 ระหว่างสองประเทศ อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชนของทั้งสองประเทศไทยและลาวอย่างแท้จริงเพื่อก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

4. นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีลาวได้แสดงความยินดีกับความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของความสัมพันธ์ไทย - ลาว ซึ่งมีเอกลักษณ์พิเศษในฐานะบ้านใกล้เรือนเคียงและญาติพี่น้องใกล้ชิดที่ประชาชนทั้งสองฝ่ายมีความผูกพันกันเป็นพิเศษ และเห็นว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมฯ ครั้งนี้จะเพิ่มความเข้าใจและ

ความไว้เนื้อเชื่อใจ และจะผลักดันความร่วมมือให้ขยายลึกซึ้งยิ่งขึ้น และเห็นพ้องว่า ควรเร่งรัดให้มีความคืบหน้าเพื่อสันติสุขของประชาชนทั้งสองฝ่าย ที่ประชุมได้ปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง

5. การรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดน ทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะร่วมมือกันตรวจตราสอดส่องและป้องกันการกระทำของกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อความสัมพันธ์ไทย - ลาว ที่มีเป้าหมายก่อความไม่สงบในอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งหากพบเบาะแส หรือมีข้อมูล ให้หน่วยงานความมั่นคงของทั้งสองฝ่ายแจ้งประสานงานกันอย่างรวดเร็ว ไทยยืนยันนโยบายที่ไม่ให้กลุ่มบุคคลใดใช้ประเทศไทยเป็นที่พักพิงหรือวางแผนก่อความไม่สงบหรือต่อต้านรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้ง สปป.ลาว

6. ความร่วมมือในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะเร่งรัด การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว ซึ่งฝ่ายไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะเจ้าหน้าที่อาวุโส ภายใต้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - ลาว (JBC) เมื่อวันที่ 1 - 3 พฤษภาคม 2556 และจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - ลาว (JBC) ครั้งที่ 9 ในเดือนสิงหาคม 2556 เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองฝ่ายที่จะทำให้งานสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย - ลาว มีความคืบหน้าตามที่ทั้งสองฝ่ายได้คาดหวังไว้

7. การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหา คุกคามต่อสังคมและการพัฒนาของทั้งสองประเทศและภูมิภาคโดยรวม และมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมที่จะยกระดับความร่วมมือในการป้องกันปัญหายาเสพติด ปราบปรามผู้กระทำผิด นำส่งผู้หลบหนีการจับกุมลงโทษคดียาเสพติด และให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากยาเสพติด โดยเห็นควรใช้ช่องทางติดต่อที่มีอยู่ให้เต็มประสิทธิภาพเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและสั่งการได้อย่างรวดเร็ว ฝ่ายลาวจะเพิ่มการตั้งจุดตรวจสกัดกั้นและใช้ประโยชน์จากโครงการในพระราชดำริที่ไทยได้จัดตั้งใน สปป.ลาว และส่งเสริมการพัฒนาทางเลือกให้มากยิ่งขึ้น และฝ่ายไทยยินดีที่จะร่วมมือกับฝ่ายลาวในการดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในโรงเรียน

8. ความร่วมมือด้านแรงงานและการป้องกันการค้ามนุษย์ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในการป้องกันและปราบปรามการล่อลวงเด็กและสตรีเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ โดยให้จัดตั้งช่องทางติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายแสดงความพร้อมที่จะปรึกษาหารือเกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะเด็กและสตรี เพื่อพัฒนาความร่วมมือทั้งสองฝ่ายให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาแรงงานลาวผิดกฎหมายที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยคณะรัฐมนตรีไทยได้มีมติขยายเวลาการดำเนินงานของศูนย์ One Stop Service เพื่อให้บริการพิสูจน์สัญชาติแรงงานลาวออกไปอีก 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2556 นอกจากนี้ ฝ่ายไทยและฝ่ายลาวยืนยันความพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกเรื่องการนำเข้าแรงงานลาวที่ถูกกฎหมายตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน ปี 2545 ด้วย

9. การประกาศเปิดจุดผ่านแดนไทย - ลาว ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ประเทศไทยได้ประกาศยกระดับจุดผ่านแดนจำนวน 2 แห่ง ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2556 ดังนี้

9.1 การยกระดับจุดผ่อนปรนภูดู่ บ้านม่วงเจ็ดต้น อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นจุดผ่านแดนถาวรภูดู่ ซึ่งตรงกันข้ามกับด่านท้องถิ่นภูดู่ บ้านผาแก้ว เมืองปากลาย แขวงไซยะบุลี

9.2 การยกระดับจุดผ่อนปรนบ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นจุดผ่านแดนถาวร ซึ่งตรงกันข้ามกับด่านสากลสามเหลี่ยมคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

10. การอำนวยความสะดวกในการผ่านแดน คณะรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐานต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค จึงเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันแก้ปัญหาความล่าช้าในการเดินทางผ่านแดนและความแออัดของการสัญจรบริเวณจุดผ่านแดนสำคัญ ๆ อาทิ สะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 (หนองคาย - เวียงจันทน์) ซึ่งฝ่ายไทยจะพิจารณาปรับปรุงพื้นที่จุดผ่านแดนและเส้นทางคมนาคมที่ต่อเนื่องในฝั่งไทย รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายลาวในการพัฒนาระบบการผ่านแดน และฝ่ายลาวกำลังดำเนินการแก้ไขการเก็บค่าล่วงเวลาและปรับปรุงกระบวนการชั่งน้ำหนักรถบรรทุกให้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ฝ่ายไทยแจ้งว่า การดำเนินการเรื่อง Single Stop Inspection (SSI) ได้ผ่านกระบวนการทางกฎหมายภายในของไทยแล้วและจะมีผลบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ โดยไทยและลาวจะทดลองใช้ระบบ SSI ที่ด่านมุกดาหาร - สะหวันนะเขต ภายในปี 2556

11. การส่งเสริมการค้าชายแดนไทย - ลาว ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น และส่งเสริมให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเก่าและประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ โดยคำนึงถึงความเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่ดีต่อกัน และฝ่ายไทยจะสนับสนุนฝ่ายลาวด้านวิชาการเกี่ยวกับมาตรฐานสุขอนามัย สุขอนามัยพืช และการรับรองมาตรฐานคุณภาพสินค้า

12. การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมไทย - ลาว และเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาค และภูมิภาคให้มากขึ้น เช่น สะพานสำหรับรถไฟ (หนองคาย - ท่านาแล้ง) และสะพานแห่งใหม่ ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน และการไปมาหาสู่กันของประชาชนของทั้งสองประเทศ และประเทศต่าง ๆ โดยรวม

13. การใช้ประโยชน์จากเส้นทางถนนหมายเลข 8 และ 12 ไทยและ สปป.ลาว ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะหาวิธีใช้ประโยชน์จากเส้นทางถนนหมายเลข 8 และ 12 อย่างเต็มที่ และร่วมกันหาทางส่งเสริมการพัฒนาตามแนวเส้นทางดังกล่าว เพื่อให้ สปป.ลาว ได้รับประโยชน์จากการใช้เส้นทางดังกล่าว ซึ่งฝ่ายไทยจะส่งเสริมภาคเอกชนไทยให้ไปลงทุนบริเวณเส้นทางดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมและฝ่ายลาวจะปรับปรุงการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้เส้นทางดังกล่าวให้ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ที่ประชุมรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศว่าด้วยการพัฒนาแนวพื้นที่ตะวันออก - ตะวันตก (East - West Economic Corridor - EWEC) ครั้งที่ 2 ณ แขวงสะหวันนะเขต ได้เห็นชอบในหลักการที่จะขยายเส้นทาง EWEC ให้ครอบคลุมถนนหมายเลข 8 และ 12 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกันเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติต่อไป

14.การพัฒนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค และเห็นว่าการตรวจลงตราเดียว (ACMECS Single Visa - ASV) เป็นแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ในภูมิภาคและอาเซียนโดยรวมได้ ซึ่งฝ่ายลาวจะพิจารณาข้อเสนอของไทยเรื่องการร่วมใช้การตรวจลงตราเดียว ซึ่งฝ่ายลาวจะได้เตรียมการด้านต่าง ๆ และเมื่อมีความพร้อมจะแจ้งฝ่ายไทยทราบต่อไป

ความร่วมมือด้านอื่น ๆ

15. การฉลองครบรอบ 20 ปี การก่อตั้งสมาคมไทย - ลาว / ลาว - ไทย เพื่อมิตรภาพ นายกรัฐมนตรี ทั้งสองฝ่ายแสดงความยินดีที่ปี 2556 เป็นโอกาสครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้งสมาคมไทย - ลาว เพื่อมิตรภาพ และสมาคมลาว - ไทย เพื่อมิตรภาพ ซึ่งได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน สังคมและวัฒนธรรม และมีคุณูปการสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย - ลาวในภาพรวม

ที่ประชุมเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายนำผลการประชุมที่ตกลงกันในที่ประชุมนี้ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมอย่างไม่เป็นทางการ ไทย - ลาว ครั้งที่ 2 ได้ดำเนินไปในบรรยากาศแห่งความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง จริงใจ และเต็มไปด้วยไมตรีจิตมิตรภาพในฐานะบ้านใกล้เรือนเคียงที่ดีต่อกัน

คณะผู้แทนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้แสดงความขอบคุณต่อคณะผู้แทนของราชอาณาจักรไทยที่ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดีให้การจัดการประชุมครั้งนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี

ทำ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ราชอาณาจักรไทย ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2556 เป็นคู่ฉบับภาษาไทยและภาษาลาว ทั้งสองภาษามีคุณค่าเท่าเทียมกัน

สำหรับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

(ดร.สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล)

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

สำหรับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

(ดร.ทองลุน สีสุลิด)

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ