ด้วยนายมันโมฮัน สิงห์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย มีกำหนดเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ ๓๐ — ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ตามคำเชิญของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
รัฐบาลไทยจะจัดพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ณ ทำเนียบรัฐบาล และ จะมีการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีสองฝ่ายเพื่อสานต่อความร่วมมือที่ผู้นำทั้งสองประเทศได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๕ ที่จะยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ระหว่างกัน บนพื้นฐานของหลักประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชน และผลประโยชน์ร่วมในการส่งเสริมการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรีทั้งสองจะทบทวนพัฒนาการของความร่วมมือที่มีอยู่ และพิจารณาสาขาความร่วมมือใหม่ ซึ่งทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีอินเดียและคณะในเย็นวันเดียวกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีอินเดียและคณะจะเดินทางออกจากประเทศไทยในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖
การเยือนครั้งนี้ เป็นการเยือนประเทศไทยในระดับทวิภาคีอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ นายมันโมฮัน สิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดีย โดยก่อนหน้านี้ นายสิงห์ ได้เคยเดินทางมาประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด BIMSTEC ครั้งที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๔๗ และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๕ เมื่อปี ๒๕๕๒ ส่วน นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เยือนอินเดียถึงสองครั้งในปี ๒๕๕๕ โดยเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม ในฐานะแขกเกียรติยศงานเฉลิมฉลองวันสถาปนาสาธารณรัฐของอินเดีย (Republic Day) และเพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน — อินเดีย สมัยพิเศษ เมื่อเดือนธันวาคม
การแลกเปลี่ยนการเยือนแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับอินเดีย ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะการสะท้อนถึงนโยบาย “มองตะวันตก” (Look West) ของไทยที่มุ่งเน้นการกระชับความร่วมมือกับอินเดียและเอเชียใต้ และนโยบาย “มองตะวันออก” (Look East) ของอินเดียที่ต้องการกระชับความร่วมมือกับไทยและอาเซียน โดยเฉพาะการมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน และการเชื่อมโยง (connectivity) เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ และของภูมิภาคโดยรวม ความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศจะเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับสากล ในประเด็นที่มีผลประโยชน์ร่วม รวมถึงประเด็นความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าในกรอบองค์การสหประชาชาติ กรอบพหุภาคี และกรอบภูมิภาค
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--