เมื่อวันที่ ๓ - ๔ มิถุนายน ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เยือนฮังการีอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ตามคำเชิญของนายยานอช์ มาร์ตอนยิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฮังการี ในโอกาสครบรอบ ๔๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย — ฮังการี โดยการเยือนครั้งนี้ เป็นโอกาสในการสานต่อและแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ หลังจากที่ได้มีการพบหารือกันช่วงการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฮังการีเมื่อปีที่แล้ว
ในการเยือนครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าเยี่ยมคารวะนายตีบอร์ นอฟรอชีช รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมฮังการี และหลังจากนั้น ได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฮังการีเป็นเจ้าภาพ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนสรุปผลการหารือทั้งสองวาระ ดังนี้
๑. ภาพรวมความสัมพันธ์ สองฝ่ายได้แสดงความยินดีที่ไทยและฮังการีมีความสัมพันธ์อันดีและราบรื่นมาโดยตลอด โดยเฉพาะปีนี้ เป็นปีที่ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับฮังการีครบรอบ ๔๐ ปี (สถาปนาเมื่อปี ๒๕๑๖) การแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์แน่นแฟ้นที่มีมากว่า ๔๐ ปี ทั้งนี้ ในความเป็นจริงไทยและฮังการี ได้ริเริ่มการติดต่อกันมายาวนานกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เดินทางเยือนฮังการีในครั้งเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ ๑ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ซึ่งขณะนั้น ยังเป็นอาณาจักรออสโตร - ฮังกาเรียน
๒. การส่งเสริมการค้า การลงทุน สองฝ่ายต่างเห็นพ้องว่าไทยและฮังการียังมีศักยภาพในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจอีกมาก เนื่องจากขณะนี้ การค้าระหว่างไทยกับฮังการีมีมูลค่าประมาณ ๕๔๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ทั้งนี้ ฝ่ายฮังการีคาดหวังให้ภาคเอกชนไทยเข้ามาลงทุนในฮังการีมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ เกษตรแปรรูป และการท่องเที่ยว ในขณะที่ฝ่ายก็ได้เชิญชวนนักลงทุนฮังการีมาลงทุนในแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทยมูลค่า ๒.๒ ล้านล้านบาท ซึ่งปลายปีนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะนำคณะภาคเอกชนไทยเดินทางมาร่วมประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย — ฮังการี ที่กรุงบูดาเปสต์ เพื่อหารือในสาขาความร่วมมือดังกล่าวและโอกาสช่องทางการลงทุนด้วย
๓. การส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา ฮังการีเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีและความเป็นเลิศในหลายสาขา อาทิ วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ วิศวกรรม เทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการน้ำ และการเกษตร และถือเป็นข่าวดีที่ฝ่ายฮังการีได้แจ้งว่าจะให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาไทยในระดับต่าง ๆ และฮังการีประสงค์จะมีความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษากับไทยด้วย
๔. ความร่วมมือด้านกฎหมาย สองฝ่ายเห็นพ้องกันให้เริ่มการเจรจาความตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนในโอกาสแรก
๕. ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ ไทยยินดีที่ฮังการีได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมผู้น้ำด้านน้ำเอเชีย — ยุโรป ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และหวังว่าไทยจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และผลของการประชุมดังกล่าวในการประชุมว่าด้วยเรื่องน้ำ Budapest Water Summit ที่ฮังการีจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ๒๕๕๖ ตลอดจนการริเริ่มกรอบความร่วมมือแม่โขง — ดานูบ เพื่อขยายความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
๖. ความร่วมมือด้านการวิจัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้นำคณะผู้บริหารของสถาบันวิจัยของไทย ๖ หน่วยงาน ได้แก่ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ไปพบกับ The Hungarian Academy of Science ของฮังการี เพื่อปูทางการกำหนดความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยของไทยกับสถาบันวิจัยฮังการี ซึ่งฝ่ายฮังการีก็ได้จัดให้คณะผู้บริหารสถาบันของไทยศึกษาดูงานในสาขาที่เกี่ยวข้อง ๓ สาขาด้วยกัน คือ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการเกษตรและปศุสัตว์ และด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และเวชภัณฑ์
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--