ประเทศไทยในฐานะสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ( UN Human Rights Council - HRC) วาระปี ๒๕๕๓ — ๒๕๕๖ ได้แสดงบทบาทอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมตามกลไก Universal Periodic Review (UPR) ซึ่งเป็นกลไกการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิกสหประชาชาติอย่างสร้างสรรค์
กระทรวงการต่างประเทศมีส่วนร่วมในกลไก UPR ตั้งแต่ต้น รวมทั้งได้ติดตามการเข้าร่วมในกระบวนการทบทวนฯ และให้ข้อเสนอแนะส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนแก่ประเทศที่ถูกทบทวนในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบแรกซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๑ และในกระบวนการทบทวนรอบที่ ๒ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ เป็นต้นมานั้น คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ยึดหลักการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์และได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงต่อการทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของทุกประเทศด้วยความมุ่งหวังที่จะเป็นพลังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในทุกพื้นที่ของโลก
ประเทศไทยได้นำเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนต่อคณะทำงาน UPR สมัยที่ ๑๒ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ ณ นครเจนีวา ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังดำเนินการตามข้อเสนอแนะจำนวน ๑๓๔ ข้อที่ไทยได้ให้การรับรองและคำมั่นที่ไทยได้ให้ไว้ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทราบในช่วงครึ่งเทอมแรก โดยกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ไทยรับมาปฏิบัติ และตีพิมพ์เผยแพร่เพื่อใช้ประโยชน์ในการติดตามพัฒนาการการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของไทย
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกระบวนการการทบทวนรายงาน UPR กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษเอกสารอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา และจะจัดทำหนังสือเสียงเพื่อให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในกลไก UPR โดยไม่เลือกปฏิบัติ
ประเทศไทยจะเข้าสู่การทบทวนภายใต้กลไก UPR ครั้งที่สองในปี ๒๕๕๙ ผู้ที่สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศที่ www.mfa.go.th/humanrights
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--