กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสภากาชาดไทยกำหนดจัดงานปาฐกถา “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร ครั้งที่ ๖” เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖ ในเวลา ๐๙.๐๐ น. ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จเป็นองค์ประธานในงานฯ
การแสดงปาฐกถาฯ “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร ครั้งที่ ๖” นี้ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่การศึกษาและวิจัยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือที่รู้จักกันว่า กฎหมายว่าด้วยการขัดกันทางอาวุธ หรือกฎหมายว่าด้วยสงคราม หรือบรรดากฎเกณฑ์ที่ใช้ในภาวะสงครามที่คุ้มครองบุคคลซึ่งไม่เข้าร่วมในการสู้รบหรือไม่ได้เข้าร่วมรบอีกต่อไปแล้ว กฎหมายดังกล่าวนี้จำกัดวิธีการและหนทางของการรบด้วยจุดประสงค์หลักคือ การจำกัดและป้องกันความทุกข์ทรมานของมนุษย์เมื่อเกิดการขัดกันทางอาวุธ ไม่เพียงแต่รัฐบาลและกองทัพเท่านั้นที่จะต้องยึดถือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ แต่ยังรวมถึงทั้งฝ่ายปรปักษ์และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขัดกันทางอาวุธด้วย
การจัดปาฐกถาฯ ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นองค์ปาฐกในหัวข้อ “คณะกรรมการสากลไต่สวนข้อเท็จจริง กฎหมายสิทธิมนุษยชน และกฎหมายมนุษยธรรม: สหประชาชาติ ซีเรีย และอื่น ๆ” (International Commissions of Inquiry, Human Rights and Humanitarian Law : the United Nations, Syria and Beyond) โดยศาสตราจารย์ วิทิตฯ จะกล่าวถึงประสบการณ์ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศซีเรีย และประธานของคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไอวอรีโคสต์ ปี ๒๕๕๔
ทั้งนี้ คณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง (International Commission of Inquiry) จะจัดตั้งขึ้น โดยกลไกของสหประชาชาติ มีการแต่งตั้งบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นอิสระเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ เพื่อช่วยประเมินสถานการณ์ให้สหประชาชาติทราบ โดยการสัมภาษณ์ผู้อยู่ในเหตุการณ์ พยาน เหยื่อ และพิจารณาจากหลักฐานทางการแพทย์ รายงานวิชาการ รายงานของรัฐบาล และจัดทำรายงานสรุปความเห็นและเสนอให้แก่สหประชาชาติเป็นระยะ ๆ ปัจจุบัน มีการตั้งคณะกรรมการฯ แล้วในหลายประเทศ กล่าวคือ คณะกรรมการฯ การละเมิดสิทธิในประเทศไอเวอรีโคสต์ คณะกรรมการฯ การละเมิดสิทธิในประเทศลิเบีย และในปี ๒๕๕๔ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ การละเมิดสิทธิในประเทศซีเรีย ซึ่งแม้ความเห็นและคำแนะนำของคณะกรรมการฯ จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่อาจส่งผลต่อการดำเนินการกระบวนการยุติธรรมในเรื่องดังกล่าว ทั้งในระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงการนำคดีขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) ด้วย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรวิเคราะห์และศึกษาอย่างยิ่ง
อนึ่ง กลุ่มบุคคลผู้ได้รับเชิญให้ร่วมเข้าฟังปาฐกถาในครั้งนี้ ประกอบด้วยรัฐมนตรี คณะทูต สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการระดับสูง ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ องค์กรเอกชน คณาจารย์ และนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา โรงเรียนทหารทั้ง ๓ เหล่าทัพ โรงเรียนนายตำรวจ และสื่อมวลชน สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมรับฟังการแสดงปาฐกถาในครั้งนี้ สามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานบริหาร สภากาชาดไทย โทรศัพท์ ๐๒ ๒๕๖ ๔๐๓๗ - ๘
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--