กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานหลักในการประสานงานกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “Informal Meeting on Intellectual Property related to Genetic Resources, Traditional Knowledge and Folklore” หรือ IGC Retreat เมื่อวันที่ ๕ - ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ณ โรงแรม Royal Orchid Sheraton Hotel and Towers กรุงเทพฯ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมในวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๖
การประชุม IGC Retreat ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ผู้แทนระดับเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวร ที่ประจำ ณ นครเจนีวา และเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาของรัฐสมาชิก WIPO ได้มาร่วมหารือในระดับนโยบายเพื่อสร้างความเข้าใจและหาจุดร่วมเพื่อขับเคลื่อนการทำงานของคณะกรรมการระดับรัฐบาลว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม (Intergovernmental Committee on Genetic Resources, Traditional Knowledge and Folklore - IGC) ของ WIPO ในการเจรจาเพื่อพัฒนากลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศมาคุ้มครองสิทธิในทรัพยากรพันธุกรรม (Genetic Resources — GRs) ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Traditional Knowledge - TK) และการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม (Traditional Cultural Expressions — TCEs)
การประชุม WIPO IGC เป็นการประชุมระหว่างประเทศที่ได้ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ (ค.ศ. ๒๐๐๑) โดยมีการพิจารณาร่างข้อบท ๓ ด้านข้างต้น และมีการประชุมมาแล้วทั้งหมด ๒๔ ครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถมีข้อสรุปในเรื่องการจัดทำแนวทางการคุ้มครอง GRs, TK และ TCEs ที่เป็นรูปธรรมได้ ทั้งนี้ อุปสรรคที่สำคัญคือแนวความคิดที่แตกต่างและผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มต่าง ๆ และการหาจุดสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิผู้เป็นเจ้าของกับการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ
โดยที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรพันธุกรรม มีมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าทั้งในรูปของภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งล้วนเป็นผลประโยชน์ที่สำคัญของประเทศเพราะนอกจากทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้จะสะท้อนถึงความเจริญงอกงามของอารยธรรมและมีคุณค่าทางศิลปะและวัฒนธรรมในตัวเองแล้ว ยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจประเมินค่าได้ จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องมีความตระหนักรู้และให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้ไว้
โดยที่การเจรจาในการประชุม IGC อาจนำไปสู่การจัดทำกฎหมายระหว่างประเทศและมีผลผูกพันประเทศสมาชิก ไทยจึงต้องติดตามและมีส่วนร่วมในการประชุมดังกล่าว เพื่อให้กลไกระหว่างประเทศที่จะมีการพัฒนาขึ้นเป็นไปในทางที่สอดคล้องกับความต้องการและผลประโยชน์ของไทยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะประชาชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของ GRs, TK และ TCEs
การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม IGC Retreat ในครั้งนี้ ยังเป็นการเน้นย้ำบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยที่จะผลักดันให้การเจรจา WIPO IGC มีความคืบหน้าโดยผ่านการประชุมหารือระดับนโยบายในบรรยากาศที่เป็นกันเองเพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการแลกเปลี่ยนข้อมูล/ ประสบการณ์เกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญทั้งสามด้านและข้อจำกัดภายในของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ การจัดประชุมดังกล่าวยังเป็นการเตรียมความพร้อมของไทยในการเข้าร่วมการประชุม WIPO IGC ครั้งที่ ๒๕ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๕-๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ณ นครเจนีวา และการประชุมสมัชชาใหญ่ WIPO ในเดือนกันยายน ๒๕๕๖ เพื่อพิจารณาความพร้อมของร่างข้อบทดังกล่าวในการเรียกประชุมทางการทูต (diplomatic conference) ต่อไป
องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๗ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศให้มีความสมดุลระหว่างการตอบแทนผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญากับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ ปัจจุบัน WIPO มีสมาชิกทั้งหมด ๑๘๔ ประเทศ โดยประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิก WIPO เมื่อปี ๒๕๓๒
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--