เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับสถานการณ์ในอียิปต์ สรุปได้ดังนี้
ไทยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอียิปต์มาอย่างยาวนานทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และภาคประชาชน ไทยให้ความสำคัญกับอียิปต์ในฐานะประเทศที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลางและในทวีปแอฟริกา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอียิปต์ขณะนี้ ไทยจึงมีความห่วงกังวลอย่างยิ่ง เพราะสถานการณ์ในอียิปต์ขณะนี้ยังไม่กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ยังคงมีเหตุการณ์รุนแรงและมีการสูญเสียเกิดขึ้น จากประสบการณ์ของไทย ทำให้เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่มิได้มาจากวิถีทางประชาธิปไตยไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องอาศัยการปรองดอง ความเป็นปึกแผ่น และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทุกภาคส่วนในสังคม ในหลักการ ไทยจึงไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนการแทรกแซงทางทหารหรือการใช้วิธีการนอกกรอบรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในกรอบประชาธิปไตย
ในฐานะที่ประเทศไทยยึดมั่นในค่านิยมประชาธิปไตย ไทยจึงขอเรียกร้องให้ชาวอียิปต์ทุกภาคส่วนหันหน้าเข้าหากัน เพื่อหาทางกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และหวังว่าการแต่งตั้งประธานาธิบดีรักษาการ จะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนรักษาการ และการจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อมิให้กระบวนการประชาธิปไตยสะดุดลง ทั้งนี้ ประเทศไทยเห็นว่า รัฐบาลที่ชอบธรรมควรจะมาจากการเลือกตั้งที่เสรีโดยประชาชนเท่านั้น
สถานการณ์ในอียิปต์ขณะนี้ ยังไม่มีคนไทยได้รับผลกระทบ โดยขณะนี้ มีคนไทยอาศัยอยู่ในอียิปต์ จำนวน ๒,๐๐๐ กว่าคน เป็นนักเรียนไทย ๑,๘๐๐ คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงไคโร และคนไทยที่อาศัย/ประกอบอาชีพอยู่ในอียิปต์อีก ๒๐๐ คน
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ได้ดูแลคนไทยทั้งหมดในอียิปต์อย่างใกล้ชิด หากเหตุการณ์บานปลาย เกิดความรุนแรงถึงขั้นที่จะกระทบต่อความปลอดภัยของคนไทย ก็ต้องนำคนไทยออกนอกประเทศ ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ได้มีการจัดเตรียมแผนอพยพไว้แล้ว โดยมีการกำหนดผู้ประสานงานและจุดนัดพบต่าง ๆ ประมาณ ๑๐ จุด ทั้งในกรุงไคโร และในเมืองต่าง ๆ เพื่อรวบรวมคนไทยแล้วนำออกนอกประเทศ อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ขณะนี้ ยังไม่ร้ายแรงเทียบเท่าเหตุการณ์ Arab Spring เมื่อปี ๒๕๕๔
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--