(คำแปลภาษาไทยอย่างไม่เป็นทางการ)
ฯพณฯ โทนี่ แบลร์ ฯพณฯ มาร์ตี อาห์ติซารี
แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
ในอันดับแรก ดิฉันขอต้อนรับทุกท่านสู่การปาฐกถาพิเศษครั้งแรกของชุด “ผนึกกำลังสู่อนาคต : เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์” รัฐบาลไทยขอขอบคุณวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ที่ได้สละเวลาอันมีค่ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับพวกเราในวันนี้ นอกจากนี้ ดิฉันขอขอบคุณสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ และสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ร่วมกันจัดการปาฐกถาพิเศษนี้
การจัดปาฐกถาพิเศษครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีที่เปิดกว้างสำหรับทุกฝ่ายในการมีส่วนร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ความคิด หรือแม้แต่เรื่องราวส่วนบุคคล เพื่อให้เราเรียนรู้ไปด้วยกันและสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนทุกคน
ดิฉันเชื่อมั่นว่าการปาฐกถาพิเศษครั้งนี้และครั้งต่อๆ ไปจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในประเด็นต่างๆ
ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ดิฉันหวังว่างานครั้งนี้จะเป็นพื้นฐานไปสู่แนวทางที่นำไปปฏิบัติได้จริง เพราะแม้ว่าการแลกเปลี่ยนอุดมการณ์ต่างๆ จะมีความสำคัญ แต่ในที่สุดแล้ว อุดมการณ์เหล่านั้นจะ
ต้องปฏิบัติได้จริงเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
ปัจจุบันเราอยู่ในสภาวะที่ประชาธิปไตยเดินถึงทางแพร่ง ยังคงมีความพยายามที่จะปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนในที่ต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก ดิฉันมั่นใจว่าหลายท่านในที่นี้เชื่อในระบอบประชาธิปไตย และอุทิศตนทำงานอย่างหนักเพื่อปกป้องและคุ้มครองหลักการเหล่านี้ ประชาธิปไตยเป็นเครื่องรับรองสิทธิและเสรีภาพของคนทุกคน ประชาธิปไตยยังส่งเสริมให้คนทุกคนได้แสดงความสามารถส่วนตัว และเปิดให้
ทุกคนเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ ประชาธิปไตยยังเคารพความหลากหลายและเปิดโอกาสสำหรับการแก้ไขความแตกต่างตามแนวทางสันติ
เราใส่ใจอย่างยิ่งในความสำคัญของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันต่อการบรรลุสันติภาพและเสถียรภาพ
ที่ยั่งยืน เพราะเสถียรภาพเป็นพื้นฐานให้ทุกชาติและทุกภูมิภาคก้าวไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
ความท้าทายของคนในยุคเรา คือการสร้างอนาคตสำหรับลูกหลานที่พร้อมไปด้วยเสถียรภาพ อนาคตซึ่งมีความขัดแย้งน้อยลง และอนาคตที่มีสภาพแวดล้อมที่ทำให้ทุกคนมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันที่จะเจริญก้าวหน้า กุญแจสำคัญคือการทำงานร่วมกันเพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของประชาธิปไตยที่มั่นคง
เมื่อดิฉันกล่าวถึงประชาธิปไตย ดิฉันมิได้หมายถึงเพียงระบอบที่ผู้มีเสียงข้างมากเป็นรัฐบาลและผู้มี
เสียงข้างน้อยเป็นฝ่ายค้าน แต่ดิฉันหมายถึงวัฒนธรรมที่พลเมืองทุกคนเคารพมุมมองของกันและกัน
และวัฒนธรรมที่ทุกฝ่ายบังคับใช้และเคารพในหลักนิติธรรม
แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
เราทุกคนมารวมกันในวันนี้ก็เพื่อลูกหลานในอนาคต เราจำเป็นต้องเรียนรู้จากแต่ละฝ่าย ซึ่งดิฉันเชื่อว่า ประชาชนชาวไทยทุกคนจะได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ของนานาประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนรู้ประสบการณ์การแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองและการส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศอื่นๆ รวมทั้งการเรียนรู้การส่งเสริมให้ทุกฝ่ายละทิ้งความแตกต่างและหันหน้าทำงานร่วมกันเพื่ออนาคตของประชาธิปไตยที่มั่นคง แน่นอนว่าเราทุกคนย่อมประสงค์จะได้รับทราบเกี่ยวกับความสำเร็จ แต่เราก็ต้องการที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลวเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะบทเรียนจากการที่ไม่สามารถสร้างความสมัครสมานสามัคคี ตลอดจนผลจากความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อเราไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นได้
ดิฉันหวังว่าบทเรียนที่เราได้เรียนรู้จากกรณีศึกษาของประเทศอื่นๆ จะเป็นแรงบันดาลใจให้เราทุกคนหันมามองว่าสิ่งใดคือประโยชน์สูงสุดของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยกันตามแนวทางประชาธิปไตย พร้อมกันการผนึกกำลังสู่อนาคตของลูกหลานของเราทุกคน
ขอบคุณค่ะ
(คำแปลภาษาไทยอย่างไม่เป็นทางการ)
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--