ในการเยือนสาธารณรัฐเช็กอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ ๕ - ๖ กันยายน ๒๕๕๖ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเข้าพบหารือกับนายยาน โคโฮท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเช็กเพื่อแสวงแนวทางส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะในโอกาสที่ไทยและสาธารณรัฐเช็กจะฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบ ๔๐ ปี ในปี ๒๕๕๗ นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นประธานร่วมกับนายยีรี เชียนเชียล่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าสาธารณรัฐเช็ก ในการประชุมคณะกรรมธิการร่วมด้านเศรษฐกิจไทย — สาธารณรัฐเช็ก ครั้งที่ ๑ เพื่อกำหนดแนวทางการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและวิชาการระหว่างกัน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วยประมาณ ๒๐ คน
การเยือนสาธารณรัฐเช็กและการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมดังกล่าว นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน ปัจจุบันสาธารณรัฐเช็กเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ ๑ ของไทยในภูมิภาคยุโรปกลาง มีมูลค่าการค้าในปี ๒๕๕๕ ประมาณ ๙๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีกมาก เช็กมีศักยภาพด้านการลงทุน และมีความโดดเด่นทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี อีกทั้งยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับการท่องเที่ยวไทย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังแสดงความประสงค์ที่แบ่งปันองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระหว่างกัน การเยือนดังกล่าวจึงนับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
ภายหลังการเยือนสาธารณเช็ก นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเดินทางเยือนสาธารณรัฐเอสโตเนียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๖ — ๘ กันยายน ๒๕๕๖ โดยมีกำหนดการสำคัญได้แก่การหารือข้อราชการกับนายอูรมาส์ ไปป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเอสโตเนีย และเยี่ยมชมการดำเนินการงานศูนย์ ICT Demo Center เพื่อศึกษาศักยภาพและลู่ทางที่จะส่งเสริมความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและ Cyber defense ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาความร่วมมือที่นายกรัฐมนตรีไทยและสาธารณรัฐเอสโตเนียได้ยกขึ้นหารือระหว่างการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting — ASEM) ครั้งที่ ๙ ณ นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕
อนึ่ง สาธารณรัฐเอสโตเนีย ถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพของไทย โดยเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศบอลติกที่มีขนาดเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุด และสามารถฝ่าฟันผ่านวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป โดยในปี ๒๕๕๖ คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ ๓ ซึ่งการเยือนสาธารณรัฐเอสโตเนียในครั้งนี้ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากจะช่วยกระชับและยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นแล้ว ยังจะได้แสวงหาลู่ทางขยายความร่วมมือไปในสาขาต่าง ๆ ที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพและความสนใจร่วมกันด้วย อาทิ การค้า การลงทุน เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวซึ่งนักท่องเที่ยวชาวเอสโตเนียนิยมเดินทางมาเยือนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนับเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--