นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ ๒๑ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ บาหลี อินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ ๖-๘ ตุลาคม ๒๕๕๖ อินโดนีเซีย ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ประจำปี ๒๕๕๖ ได้กำหนดหัวข้อหลักของการประชุมในปีนี้ว่า “เอเชียแปซิฟิกที่แข็งแกร่ง แรงขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก” (Resilient Asia-Pacific, Engine of Global Growth) โดยมีประเด็นหลัก ๓ ประเด็นที่ให้ความสำคัญ ได้แก่ ๑) การบรรลุเป้าหมายโบกอร์ ๒) การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยความเท่าเทียม และ ๓) การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ
- ภารกิจหลักของนายกรัฐมนตรีในการเดินทางไปบาหลีในครั้งนี้ คือการเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๑ ซึ่งประกอบด้วย
Working Lunch ในหัวข้อ “Sustainable Growth with Equity: Food, Water and Energy Security” ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะกล่าวนำในหัวข้อ “การพัฒนาการผลิตอาหารด้วยทรัพยากรน้ำอันจำกัด” ซึ่งประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรีจะหยิบยก ได้แก่ ๑) บทบาทนำของไทยในวาระด้านน้ำ ทั้งการลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำ และการจัดประชุมในระดับภูมิภาค ๒) นโยบายการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) และ ๓) ความร่วมมือกับภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหารเช่นเดียวกัน
การประชุม Retreat I ในหัวข้อ “APEC's Role in Strengthening Multilateral Trading System in the Current Global Economic Situation” ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะผลักดันท่าทีของไทยที่ต้องการให้การประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ ๙ ในเดือนธันวาคมนี้ บรรลุข้อสรุป Bali Package ที่มีความสมดุล โดยให้ความสำคัญกับเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลัง ได้แก่ เรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า สินค้าเกษตร และประเด็นด้านการพัฒนาบางประเด็น โดยในส่วนของไทย ไทยจะให้ duty-free-quota-free แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
การประชุม Retreat II ในหัวข้อ “APEC’s Vision of Connectivity in the Evolving Regional and International Architecture ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะกล่าวถึงประเด็นความเชื่อมโยงหรือ Connectivity โดยเอเปคควรจัดการ “Connectivity Gap” นั่นคือการลดช่องว่างความเชื่อมโยงภายในประเทศ ซึ่งในส่วนของไทยกำลังดำเนินการโดยมีการวางยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ปี ค.ศ. ๒๐๒๐ หรือที่รู้จักกันในนาม “โครงการ ๒ ล้านล้าน” รวมทั้งการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางทะเล เนื่องจากเอเปคเป็นภูมิภาคที่มีมหาสมุทรแปซิฟิกกั้นกลาง และมีการค้าทางทะเลระหว่างกันจำนวนมาก ตลอดจนการเชื่อมโยงกฎระเบียบ การอำนวยความสะดวกผ่านแดนต่างๆ
- ภารกิจอื่น ๆ ของนายกรัฐมนตรีในระหว่างการเดินทางไปบาหลีในครั้งนี้ยังรวมถึงการพบภาคเอกชนในการประชุมต่าง ๆ ดังนี้
การหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค(APEC Business Advisory Council: ABAC) ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการของไทยในการแลกเปลี่ยน
ความคิดเห็นกับผู้แทนภาคเอกชนจากทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะในประเด็นความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการมีส่วนร่วมของสตรีในระบบเศรษฐกิจ
การหารือทวิภาคีกับผู้นำเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ อาทิ จีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและผู้นำคนใหม่ของออสเตรเลียได้ขอพบหารือกับนายกรัฐมนตรีในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง
การพบปะหารือกับ US-APEC Business Coalition ซึ่งจะเป็นการพบปะหารือกับองค์กรธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น US-ASEAN Business Council, US Chamber of Commerce, Council of the America และ National Center for APEC รวมถึงผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกา อาทิ Time Warner, Chevron, Johnson & Johnson, Hewlett Packard, Eastman Chemical, Fluor Corporation อีกด้วย จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐ
- นอกจากนี้ APEC CEO Summit 2013 ได้เชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษซึ่งจัดเป็นการเฉพาะสำหรับผู้นำ โดยจะมีผู้บริหารระดับสูงสุดของธุรกิจชั้นนำในภูมิภาคเข้าร่วม จึงเป็นโอกาสดีที่นายกรัฐมนตรีจะประชาสัมพันธ์นโยบายรัฐบาลที่สำคัญ รวมทั้งเชิญชวนให้ภาคเอกชนมาร่วมลงทุนในโครงการ ๒ ล้านล้านบาทของไทยด้วย
- ดังนั้น จะเห็นได้ว่า แม้ว่าจะเป็นการเดินทางเพียงระยะเวลาสั้น ๆ แค่ ๓ วัน แต่นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งกับผู้นำจากภาครัฐและภาคเอกชนในภูมิภาคอย่างทั่วถึง เป็นประโยชน์ทั้งในการส่งเสริมความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยในด้านการค้าการลงทุนและการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
- ไทยมีส่วนร่วมในกิจกรรมของเอเปคอย่างสม่ำเสมอมาตลอด ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ และเป็นโอกาสในการร่วมผลักดันและกำหนดทิศทางความร่วมมือของเอเปคให้สอดคล้องกับความต้องการของไทย ซึ่งการผลักดันข้อเสนอร่วมกับเอเปค ยังช่วยเพิ่มน้ำหนักในกรอบการเจรจาพหุภาคีอื่น ๆ เช่น WTO ซึ่งขณะนี้เอเปคก็พยายามผลักดันการเจรจาอยู่เช่นกัน
- เอเปคมีโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศ สำหรับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ซึ่งการมีส่วนร่วมในโครงการเหล่านี้ทำให้ไทยได้รับองค์ความรู้และแนวทางดำเนินการใหม่ ๆ จากเขตเศรษฐกิจที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น เพื่อนำมาปรับใช้ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยของประชาชนไทย อาทิ การแลกเปลี่ยนการหลักสูตรและการฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงานด้อยโอกาส และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของ SMEs เพื่อเพิ่มความสามารถแข่งขันได้ในภูมิภาค
- นอกจากนี้ไทยยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเอเปคในการจัดทำโครงการความร่วมมือต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในด้านต่าง ๆ อีกด้วย
- เอเปค หรือ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นในปี ๒๕๓๒ เพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน โดยปัจจุบัน มีสมาชิกทั้งหมด ๒๑ เขตเศรษฐกิจ มี GDP รวมกันกว่า ๑๙ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีสัดส่วนเป็นร้อยละ ๔๓ ของมูลค่าการค้าโลก ซึ่งร้อยละ ๗๐ ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยเป็นการค้ากับสมาชิกเอเปค
- ไทยเป็นหนึ่งใน ๑๒ เขตเศรษฐกิจผู้ก่อตั้งเอเปค และเคยเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรี ในปี ๒๕๓๕ และการประชุมระดับผู้นำในปี ๒๕๔๖ และได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคอีกครั้งในปี ๒๕๖๕ หรือ ค.ศ. ๒๐๒๒
- จีนจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี ๒๕๕๗
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--