นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดจะเดินทางเข้าร่วม การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๓ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๖ ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม ซึ่งนอกจากจะมีการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนด้วยกันเองแล้ว จะมีการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับคู่เจรจาที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสามและการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก การประชุมสุดยอดอาเซียนที่จะมีขึ้นในครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของบรูไนฯ ก่อนที่เมียนมาร์จะรับตำแหน่งต่อไปในปี ๒๕๕๗
การประชุมสุดยอดครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อทบทวนพัฒนาการความคืบหน้าการทำงานที่ผ่านมาและ ร่วมกันแสวงหาแนวทางเพื่อผลักดันประเด็นความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันต่อไปทั้งในกรอบอาเซียนและกับคู่เจรจา ตลอดจนเป็นโอกาสสำหรับแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องประเด็นในภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญ
หัวข้อการหารือของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ประกอบด้วย ๑) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาคมอาเซียน ซึ่งรวมถึงการดำเนินการตามแผนงานสามประชาคมย่อยและแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียน ๒) การจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ โดยย้ำเจตนารมย์ ของผู้นำอาเซียนในการพัฒนาประชาคมอาเซียนภายหลังปี ๒๕๕๘ ซึ่งจะเน้นผลประโยชน์ ของประชาชนเป็นหลัก อาทิ ความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและการให้บริการสาธารณสุขโดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติภายในปี ๒๕๕๘ ๓) ความร่วมมือในการจัดการปัญหาข้ามพรมแดนต่าง ๆ อาทิ ภัยพิบัติ และหมอกควัน รวมทั้งการจัดการบริหารทรัพยากรน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร และ ๔) การแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ อาทิ ความร่วมมือด้านต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้ รวมทั้งกลไกการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงเพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับการประชุมกับคู่เจรจานั้น จะเน้นการทบทวนความร่วมมือในรอบปีที่ผ่านมาและกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคต รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกนั้น ประธานอาเซียนได้กำหนดหัวข้อการหารือที่เกี่ยวกับประเด็นท้าทายใหม่ที่ไร้พรมแดนและ ที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในปัจจุบัน ได้แก่ ๑) ความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร ๒) การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ๓) การจัดการภัยพิบัติและโรคระบาด และ ๔) การฉลองครบรอบ ๑๐ ปี ความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน
ในการประชุมฯ ครั้งนี้ จะมีเอกสารผลลัพธ์ที่สำคัญ อาทิ ๑) ปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวันว่าด้วยวิสัยทัศน์ภายหลังปี ๒๕๕๘ ๒) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรีและเด็กในอาเซียน ๓) ปฏิญญาอาเซียนเสริมสร้างความเข้มแข็งมาตรการการคุ้มครองทางสังคม ๔) ปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวัน ว่าด้วยการประกอบการและจ้างงานของเยาวชน ๕) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้าน การจัดการภัยพิบัติ ๖) ปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวันว่าด้วยโรคไม่ติดต่อ ๗) แถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ ๑๖ ในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปี ของความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ๘) ปฏิญญาของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๘ ว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหาร
ในส่วนของประเทศไทย ให้ความสำคัญกับเรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งของอาเซียน และการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี ๒๕๕๘ ซึ่งจะเน้นการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ การมีความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาเพื่อความร่วมมือทางด้านภาคเกษตร ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน และการบริหาร จัดการน้ำ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง นอกจากนี้ อาเซียนจะต้องส่งเสริมภาพลักษณ์ในฐานะภูมิภาคแห่งความมั่งคั่ง สันติภาพ และเสถียรภาพ รวมทั้งยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมบรรทัดฐานสากล อาเซียนจะเพิ่มบทบาทของอาเซียนในเวทีภูมิภาคและเวทีโลก และสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจได้อย่างสร้างสรรค์ อันจะส่งผลต่อความมั่นคง สันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้การพัฒนาดำเนินไปอย่างยั่งยืนเพื่อประชาชนต่อไป
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--