การเสวนาระหว่างผู้บริหารกระทรวงการต่างประเทศกับนักวิชาการ เรื่อง “ทิศทางการต่างประเทศของไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน”

ข่าวต่างประเทศ Friday October 11, 2013 13:37 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๖ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการเสวนาระหว่างผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ กับนักวิชาการจากสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อวางแผนและทบทวนการดำเนินนโยบายของไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านให้ชัดเจนมากขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนา ประมาณ ๔๐ คน

นักวิชาการที่เข้าร่วม ได้แก่ ดร. สมเกียรติ อริยปรัชญา คณบดีสถาบันการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต ดร. จิตริยา ปิ่นทอง ผู้อำนวยการสถาบันจีน—ไทย มหาวิทยาลัยรังสิต รศ. ดร. จุลชีพ ชินวรรโณ กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ และรองอธิการบดี ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร. ธัญญาทิพย์ ศรีพนา นักวิจัยอาวุโส สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ. ดร. ธีระ นุชเปี่ยม ที่ปรึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ. สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ. วิรัช นิยมธรรม ผู้อำนวยการศูนย์พม่าศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นายจิตติภัทร พูนขำ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายอดิศร เสมแย้ม นักวิจัยอาวุโส สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายดำรง ใคร่ครวญ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ได้กล่าวเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายของไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน การแยกประเด็นความขัดแย้งออกจากความร่วมมือในภาพรวม การส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ การให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศเพื่อนบ้าน การส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน แนวโน้มและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรวมกลุ่มกันในภูมิภาค รวมถึงการส่งเสริมบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านต่าง ๆ เป็นต้น

ผู้เข้าร่วมการเสวนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้านในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น การพิจารณาจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือย่อย ๆ การสนับสนุนบทบาทของผู้เล่นที่ไม่ใช่รัฐ เช่น ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจนักวิชาการ สมาคมมิตรภาพ สมาคมศิษย์เก่า และภาคประชาชน เพื่อให้เป็นเครือข่ายในการกระชับความสัมพันธ์และเพื่อให้เข้าถึงประเทศต่าง ๆ ได้มากขึ้น การให้ความสำคัญกับภาษาและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน การให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา รวมถึงการสร้างความไว้วางใจกันโดยรวม

ทั้งนี้ การทำงานด้านต่างประเทศควรเป็นไปในแนวทางเชิงรุก มีเวลาในการคิดวิเคราะห์และวางแผนในระยะยาวโดยควรมีความชัดเจนและได้รับการผลักดันอย่างสอดคล้องกันทั้งระบบ นอกจากนี้ อาจศึกษาแนวทางดำเนินงานของต่างประเทศเพื่อนำมาปรับใช้ และในขณะเดียวกัน ภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยจะต้องปรับแนวคิดและทัศนคติที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันด้วย การเสวนาในลักษณะนี้เป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อคิดเห็นระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับ ภาควิชาการและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ