การประชุม Green Mekong Forum ครั้งที่ ๒

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 16, 2013 14:42 —กระทรวงการต่างประเทศ

ไทยและญี่ปุ่นจะร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุม Green Mekong Forum ครั้งที่ ๒ ภายใต้กรอบความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Cooperation) ในวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ ที่กรุงเทพฯ

การประชุมเชิงวิชาการดังกล่าวจะเน้นประเด็นสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน การจัดการทรั พยากรน้ำ และการป้องกันและรับมือภัยพิบัติ โดยจะมีผู้อภิปรายและผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของประเทศสมาชิกทั้ง ๖ ประเทศ คือไทย สปป. ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมาร์ และญี่ปุ่น

สาระของการประชุมเป็นไปตามแผนปฏิบัติการข้อริเริ่ม “A Decade toward the Green Mekong” ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อปี ๒๕๕๓ และประเด็นการส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. ๒๐๑๒ (Tokyo Strategy) ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อปี ๒๕๕๕

การจัดประชุม Green Mekong Forum ครั้งที่ ๒ เป็นการยืนยันบทบาทของไทยที่พร้อมร่วมมือกับญี่ปุ่นในการส่งเสริมการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยจะมีการรายงานผลให้ที่ประชุมผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นครั้งที่ ๕ ทราบในวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่กรุงโตเกียว นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้ประเทศลุ่มน้ำโขงได้เรียนรู้ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ไทยและญี่ปุ่นเคยร่วมกันเป็นเจ้าภาพการประชุม Green Mekong Forum ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ ต่อมา ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสและรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๖ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ ที่บันดาร์เสรีเบกาวันเห็นชอบให้ไทยและญี่ปุ่นร่วมกันเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งที่ ๒ ในปี ๒๕๕๖ ญี่ปุ่นได้ริเริ่มความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นเมื่อปี ๒๕๕๑ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในอาเซียนโดยการให้ความช่วยเหลือกัมพูชา สปป. ลาว พม่า และเวียดนาม ในปี ๒๕๕๕ และได้มีการประชุมระดับผู้นำมาแล้ว ๕ ครั้ง โดยครั้งที่ ๕ ได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. ๒๐๑๒ ซึ่งกำหนดเสาหลักสำหรับความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นไว้ ๓ เสา คือ เสาหลักที่ ๑ เสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เสาหลักที่ ๒ การพัฒนาไปพร้อมกัน เสาหลักที่ ๓ สร้างความมั่นใจด้านความมั่นคงของมนุษย์และ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ