เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ นายกรัฐมนตรีได้เชิญประชุมหน่วยงานพลเรือนด้านความมั่นคง ร่วมกับฝ่ายทหาร เพื่อหารือเรื่องคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕ ซึ่งเป็นกรอบการประชุมที่เคยมีการประชุมมาก่อนหน้านี้เป็นระยะ โดยครั้งล่าสุด คือเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๖ และในวันนี้ ได้มีการติดตามงาน และพิจารณาแนวทางการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขอรับบัญชานายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมในเรื่องต่าง ๆ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
๑. แนวทางคำพิพากษา ที่ประชุมรับทราบแนวทางความเป็นไปได้ของคำพิพากษา ๔ แนวทาง คือ (๑) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ตัดสินว่าไม่มีอำนาจตีความ หรือมีอำนาจ แต่ไม่มีประเด็นต้องพิจารณา หรือ (๒) ศาลฯ ตัดสินตามแนวทางของกัมพูชา คือ ขอบเขต “บริเวณใกล้เคียงปราสาท” (vicinity) เป็นไปตามเส้นบนแผนที่มาตราส่วน ๑: ๒๐๐,๐๐๐ ระวางดงรัก หรือใกล้เคียง หรือ (๓) ศาลฯ ตัดสินตามแนวทางของไทย คือ ขอบเขต “บริเวณใกล้เคียงปราสาท” (vicinity) เป็นไปตามเส้นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี ๒๕๐๕ หรือใกล้เคียง หรือ (๔) ศาลฯ ตัดสินแบบกลาง ๆ คือ ศาลฯ อาจให้ความกระจ่างและสรุปขอบเขตผลของคำพิพากษาเดิมในส่วนเหตุผลที่กล่าวถึงแผนที่ มาตราส่วน ๑: ๒๐๐,๐๐๐ ระวางดงรัก เพื่อเป็นแนวทางให้คู่กรณีไปเจรจากันตามนั้น นอกจากนี้ ได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการต่าง ๆ ตามผลคำพิพากษาในแต่ละกรณีด้วย
๒. กลไกการดำเนินการภายหลังศาลฯ มีคำตัดสิน ที่ประชุมได้เห็นชอบ ดังนี้
๒.๑ ให้หารือกับฝ่ายกัมพูชาเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับคำพิพากษาในกรอบของคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา (JC) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วม เพราะเป็นกรอบการหารือเรื่องความร่วมมือทวิภาคีที่มีอยู่แล้ว โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะทาบทามนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชาต่อไป
๒.๒ ให้ตั้งคณะทำงานเพื่อวิเคราะห์คำพิพากษาและแนวทางการดำเนินการ โดยมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน มีผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งฝ่ายพลเรือน และทหารจากกองบัญชาการกองทัพไทย และทั้งสามเหล่าทัพ เป็นคณะทำงาน มีนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนรัฐบาลเป็นเลขานุการ และอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเป็นผู้ช่วยเลขานุการ คณะทำงานนี้มีอำนาจหน้าที่ในการศึกษาวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลฯ โดยละเอียด และเสนอแนะแนวทางการดำเนินการต่อรัฐบาล
๒.๓ ให้ตั้งคณะกรรมการแปลเอกสารในคดีตีความฯ เพื่อให้เอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีฯ ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยอย่างถูกต้อง เป็นเอกสารทางการที่ใช้ได้ และเก็บเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ต่อไป
๓. การเตรียมการในด้านอื่น ๆ
๓.๑ ในชั้นนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะนำคณะฝ่ายไทยเดินทางไปฟังการอ่านคำพิพากษาในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
๓.๒ รัฐบาลจะจัดการถ่ายทอดสดการอ่านคำพิพากษาทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุ โดยทางโทรทัศน์จะออกอากาศพร้อมกัน ๒ ช่อง ช่องหนึ่งเป็นภาษาไทย อีกช่องหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศส ที่ผู้พิพากษาอ่านโดยตรง และปฏิบัติเช่นเดียวกันสำหรับการกระจายเสียงทางวิทยุ
๓.๓ มีการวางแผนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลในรูปแบบของสื่อต่าง ๆ เช่น สารคดีโทรทัศน์ สารคดีวิทยุ หนังสือการ์ตูน การพบปะกับสื่อมวลชนต่าง ๆ และการตรวจพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจและให้ความรู้ เป็นต้น
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--