เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-แปซิฟิกของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (Connect Asia-Pacific Summit 2013) ณ ห้องรอยัลจูบิลลี่ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี สรุปสาระสำคัญดังนี้
การร่วมกันประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาความเชื่อมโยงสารสนเทศในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะทำให้เราใกล้ชิดขึ้นในการสร้างสัมพันธภาพและความก้าวหน้า โดยประเทศไทยสนับสนุนอย่างแข็งขันในการสร้างความเชื่อมโยง และรอคอยที่จะเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๕๐ ปี ของ ITU ในปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ซึ่งเป็นปีเดียวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
จากการสำรวจของ ITU พบว่าปีที่ผ่านมามีประชากรเข้าสู่โลกออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่า ๒๕๐ ล้านคน และภายในสิ้นปีนี้ร้อยละ ๔๐ ของประชากรโลก จะใช้งานอินเตอร์เน็ต The Broadband Commission for Digital Development กล่าวว่าปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกว่า ๙ พันล้านเครื่อง และในปี ค.ศ. ๒๐๒๕ จะมีถึง ๑ ล้านล้านเครื่อง และคาดว่าการใช้งาน 4G จะเพิ่มขึ้น ๑๐ เท่า จากปี ค.ศ. ๒๐๑๒-๒๐๑๗
การพัฒนาเทคโนโลยีทำให้อุปกรณ์สามารถเชื่อมต่อกันได้ ก่อนหน้านี้เทคโนโลยีสารสนเทศ จะเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์มือถือเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเราสามารถเชื่อมโยงกับอุปกรณ์อื่นๆ เช่น เครื่องใช้ครัวเรือน และฐานข้อมูลทั่วโลก การเชื่อมโยงนี้ จะทำให้เราสามารถดำเนินธุรกิจ โดยยังเชื่อมต่อกับครอบครัวและเพื่อนฝูง ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็น และต้องให้ประชาชนในทุกชาติสามารถเข้าถึงได้
ด้านการดำเนินธุรกิจ เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยเชื่อมเชื่อมโยงธุรกิจกับลูกค้า และแหล่งเงินทุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งจะได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจแก่ SMEs ทำให้ SMEs มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และยังมีการประเมินว่า ผู้หญิงเข้าสู่โลกออนโลน์เพิ่มขึ้นกว่า ๖๐๐ ล้านคน ทำให้มูลค่า GDP ทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า ๑๓-๑๘ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายกรัฐมนตรีได้หารือกับเลขาธิการ ITU เกี่ยวกับโครงการของ ITU ซึ่งจะช่วยให้สตรีมีครรภ์และสตรีที่เพิ่งคลอดบุตรสามารถทำงานจากที่บ้านโดยผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะทำให้มีความมั่นคงทางการงานเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการเข้าถึงข้อมูล จะช่วยให้พลเมืองในชาติได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง สร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และส่งเสริมการบรรลุแผน MDGs แก่หลายๆ ประเทศ รวมถึงทำให้การดูแลสุขภาพครอบคลุมและเข้าถึงทุกพื้นที่อย่างเพียงพอ
สำหรับการศึกษา การใช้คอมพิวเตอร์แทบเลต จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาล รัฐบาลมีโครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย (One Tablet Per Child) โดยได้แจกจ่ายแท็บเล็ตให้แก่นักเรียน และเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการส่งเสริมการเรียนรู้ทางไกล การเชื่อมโยงทางเทคโนโลยีสารสนเทศถือเป็นวาระระดับโลก จึงเป็นเหตุผลให้คณะทำงานระดับสูงของสหประชาชาติวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ให้ความสำคัญกับการใช้ "New data revolution" ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่ทั้งนี้ยังคงมีความท้าทายในหลายๆด้าน โดยหนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุด คือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศต่างๆที่เกิดจากความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีการเชื่อมโยงน้อยที่สุด (the least connected countries) ในปัจจุบันร้อยละ ๘๐ ของครัวเรือนในประเทศที่พัฒนาแล้วเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนามีเพียงแค่ร้อยละ ๒๘ ที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต นอกจากนี้ยังมีความท้าทายเกี่ยวกับการใช้การเชื่อมโยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศผิดวัตถุประสงค์ โดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งทำให้เกิดอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ การก่อการร้ายในโลกไซเบอร์ การละเมิดความเป็นส่วนตัว โดยความท้าทายทั้งสองประการนี้ควรได้รับการจัดการ หากชุมชนทั่วโลกจะมีการเชื่อมต่ออย่างแท้จริง
๑. การเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเท่าเทียมกัน โดยจำเป็นต้องส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้อย่างทั่วถึง ซึ่งควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับสาธารณูปโภคอื่น ทั้งนี้ประเทศไทยทำงานอย่างหนัก เพื่อพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายนี้โดยการแนะนำระบบ WIFI ในพื้นที่ทั่วประเทศ และเครือข่ายการสื่อสารความเร็วสูง ทั้งนี้การเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตในภูมิภาคจะต้องมีการลงทุนที่สำคัญ รัฐบาลจึงหวังว่าสถาบันการเงินระหว่างประเทศจะสามารถให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่ไทยได้
๒. ส่งเสริมด้านซอฟแวร์ ในด้านข้อมูลสารสนเทศ โดยรวมถึงกฎระเบียบ และการส่งเสริมขีดความสามารถของบุคคล และต้องให้ความสำคัญกับประเทศที่ที่มีการเชื่อมโยงน้อยที่สุดและประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด โดยนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวแนะนำให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) มุ่งเน้นการศึกษาไปที่แนวโน้มการเชื่อมโยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในอนาคตความต้องการของประเทศต่างๆเหล่านี้ และดูว่าการฝึกอบรมและโครงการอื่น ๆ อาจช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านี้ได้
๓. การเพิ่มความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย ขยายความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและผู้มีส่วนได้เสียระหว่างภาคเอกชนต่างๆ ความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกดิจิตอลใหม่นั้นส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งทุกส่วนควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหา โดยผู้มีส่วนได้เสียรวมถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ การท่องเที่ยว การเกษตร การผลิต ธุรกิจ SMEs ภาควิชาการ และประชาสังคมด้วย เช่นนี้ประเทศไทยจึงมีความยินดีที่ทุกภาคส่วนเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ และเราจะต้องใช้สิ่งที่เราเรียนรู้จากการประชุมสุดยอดในครั้งนี้ ทำผลให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยรวมถึงการดำเนินการตามปฏิญญาของเราด้วย
๔. การเติบโตของเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมและการพัฒนา การเชื่อมเทคโนโลยีสารสนเทศถือเป็นกุญแจไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมและการพัฒนา ประชาชนทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมและได้รับรับประโยชน์จากการเติบโต โดยรัฐบาลสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม ผ่านการบริการสาธารณะต่างๆ ทั้งจากด้านสาธารณสุข การศึกษา ไปจนถึงความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะในท้องถิ่นห่างไกล ในระดับโลก เราจำเป็นต้องพัฒนาการเชื่อมโยงเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามวาระการพัฒนาภายหลังปี 2015 โดย ITU สามารถบูรณาการคำแนะนำของประชุมสุดยอดครั้งนี้และก่อนหน้านี้ เพื่อการหารืออภิปรายเกี่ยวกับการพัฒนาระดับโลก
ทั่วโลกมองว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และเป็นความหวังสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การพัฒนาและปรับปรุงการเชื่อมโยงเทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเจริญเติบโตของกลไกดังกล่าว ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับเราที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ โดยนายกรัฐมนตรีหวังว่าประชุมสุดยอดครั้งนี้จะพบกับวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดีที่สุด เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตแบบมีส่วนร่วม และพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--