คำกล่าวของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ในการบรรยายสรุปต่อคณะทูตและองค์การระหว่างประเทศ
๒ ธันวาคม ๒๕๕๖
ฯพณฯ เอกอัครราชทูต สุภาพสตรี และสุภาพบุรุษทุกท่าน
สวัสดีครับทุกท่าน และขอขอบคุณที่เข้ามารับฟังการบรรยายสรุปในครั้งนี้
ผมจะขอให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย และความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขสถานการณ์
หากทุกท่านจำได้ การชุมนุมประท้วงได้เริ่มขึ้นจากการคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมซึ่งเสนอต่อรัฐสภา แต่เมื่อประชาชนจำนวนมากออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย วุฒิสภาก็ได้ส่งคืนร่างดังกล่าวกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตามขั้นตอน จะสามารถนำร่างดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาได้ก็ต่อเมื่อพ้น ๑๘๐ วันไปแล้ว
ดังนั้น ภายใต้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลไม่มีอำนาจแทรกแซง และจะขึ้นอยู่กับสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นเหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการแสดงถึงความสุจริตใจ พรรคร่วมรัฐบาลได้ร่วมกันลงนามในข้อตกลงที่จะไม่นำร่างดังกล่าวกลับขึ้นมาพิจารณาในรัฐสภาอีก และท่านนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันต่อสาธารณชนในหลายโอกาสว่า รัฐบาลสนับสนุนการดำเนินการของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะให้ร่างดังกล่าวตกไป
แม้ว่าสาธารณชนจะรับรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว การประท้วงที่นำโดยอดีตสมาชิกระดับสูงของพรรคฝ่ายค้านก็ยังไม่ยุติ แต่กลับมีการยกระดับการประท้วงโดยการเข้ายึดสถานที่ราชการอย่างผิดกฎหมาย และขัดขวางการให้บริการแก่ประชาชน จนถึงขั้นต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
เห็นได้ชัดว่า ผู้นำการประท้วงมีความตั้งใจตั้งแต่ต้นที่จะโค่นล้มเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยใช้พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเป็นข้ออ้าง
ตามที่ผมได้มีคำแถลงส่งไปถึงทุกท่านเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมขอย้ำว่า รัฐบาลนี้เคารพสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนในการประท้วงอย่างสงบ ซึ่งรัฐบาลได้ใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุดในการควบคุมสถานการณ์
แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นคือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุมประท้วงมีความตั้งใจที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตย โดยวิถีทางที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยใช้ทุกวิธีในการกดดันรัฐบาล รวมถึงการกระทำที่ผิดกฏหมาย เพื่อเพิ่มความตึงเครียด รวมทั้งการยุยงและกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง โดยหวังว่าจะมีการแทรกแซงจากฝ่ายทหาร
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายสุเทพฯ ได้ยกระดับการชุมนุมประท้วงโดยได้ประกาศแผนการเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล และสถานที่ราชการสำคัญๆ และรัฐวิสาหกิจ ท่านทั้งหลายคงได้เห็นด้วยตนเองแล้วจากสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้อดกลั้นและยอมให้มีการชุมนุมประท้วงในกรอบของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติและมาตรฐานสากลในการรักษากฏหมายและความสงบเรียบร้อย
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้ความพยายามเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงหลายๆ กลุ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจา นอกจากนี้ ท่านจะเห็นได้ว่า สื่อต่างประเทศสามารถรายงานสถานการณ์ได้อย่างเสรีโดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล
ความพยายามของรัฐบาลมิได้ทำเพื่อรักษาอำนาจ แต่เป็นไปเพื่อรักษาและปกป้องหลักนิติธรรมและกระบวนการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นายกรัฐมนตรีได้แถลงทางต่อสาธารณะทางโทรทัศน์ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยเสนอให้มีการเจรจาและมีเวทีการหารือของทุกภาคส่วนเพื่อหาทางออกโดยสันติ แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ข้อเสนอด้วยความตั้งใจจริงของรัฐบาลถูกปฏิเสธโดยนายสุเทพฯ รวมทั้งแกนนำคนอื่นๆ และพรรคประชาธิปัตย์
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำการชุมนุมประท้วงยังได้ยืนยันว่า แม้แต่การยุบสภา หรือการลาออกของรัฐบาล ก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงไม่ทราบว่า บุคคลกลุ่มนี้ต้องการอะไรแน่ หากทางเลือกตามครรลองประชาธิปไตยดังกล่าวยังไม่ใช่ทางออก
ในทางกลับกัน ผู้ชุมนุมประท้วงได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งสิ่งที่เรียกว่า ?สภาประชาชน? ซึ่งไม่เพียงแต่จะยอมรับไม่ได้แล้ว ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะอยู่นอกกรอบรัฐธรรมนูญ และจะทำให้ประชาธิปไตยของไทยเดินถอยหลังไปอีก
ฯพณฯ ท่านสุภาพสตรี และสุภาพบุรุษ
ข้อเท็จจริงก็คือ รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย โดยได้รับการสนับสนุนท้วมท้นถึง ๑๕ ล้านเสียง
เราได้บริหารประเทศในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ แม้จะเป็นที่ทราบว่ารัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่อง
รัฐบาลไทยเคารพเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ อย่างไรก็ดีการแสดงออกควรจะต้องกระทำภายในกรอบของรัฐธรรมนูญ
เราตระหนักดีว่าในทุกสังคมประชาชนสามารถมีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกันและมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นของตน แต่ทุกฝ่ายจะต้องเคารพกฎกติกาตามบรรทัดฐานและกระบวนการประชาธิปไตย กล่าวคือ ตามหลักการของรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมากมีสิทธิที่ชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล
หากฝ่ายใดสามารถใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายและขัดต่อหลักประชาธิปไตยเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ ประเทศไทยก็จะไม่มีวันหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์นี้ได้
ทางออกเดียวก็คือการเจรจา อย่างไรก็ดี การเจรจาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายเคารพหลักนิติรัฐ และพร้อมที่จะประนีประนอมและเข้าร่วมอย่างสุจริตใจ นี่เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เราสามารถขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้
แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่กลุ่มผู้ที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุมประท้วงได้ปิดประตูสำหรับการเจรจา โดยมีเจตนาคือเพื่อก่อความโกลาหลวุ่นวายให้มากที่สุด โดยหวังว่า ทหารจะออกมา พวกเค้าได้ใช้ทุกวิธีเพื่อพยายามโค่นล้มรัฐบาล ดังที่เคยทำมาแล้วในปี ๒๕๕๑ ซึ่งพวกเขาได้ยึดทำเนียบรัฐบาล สนามบินสุวรรณภูมิ และสถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ สิ่งที่คนกลุ่มนี้กำลังดำเนินการในครั้งก็คือ การพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ โดยแอบอ้างว่าเป็นการปฏิวัติประชาชน และไม่สนใจต่อหลักการประชาธิปไตย ทั้งนี้ เพียงเพื่อจะขับรัฐบาลให้พ้นจากหน้าที่ นอกจากการประท้วงแล้ว คนกลุ่มนี้ยังพยายามที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวโดยผ่านกระบวนการของกลไกอิสระ พวกท่านคงจำได้ถึงสถานการณ์ที่นำไปสู่การล้มรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในปี ๒๕๕๑ อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้สถานการณ์แตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี ๒๕๔๙ กล่าวคือ ในครั้งนี้ ฝ่ายทหารโดยเฉพาะผู้นำกองทัพไม่ต้องการเข้าไปยุ่งกับการเมือง เนื่องจากประสบการณ์ในอดีตชี้ให้เห็นว่า การก่อรัฐประหารไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ และไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน
ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยการเจรจาหารือ เราก็จะตกอยู่ในเส้นทางที่อันตราย และเป็นการถดถอยอย่างยิ่งของประชาธิปไตยไทย ดังนั้น สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นเครื่องตัดสินอนาคตของประชาธิปไตยของประเทศนี้
ผมเชื่อว่า มิตรประเทศทั้งหลายต่างก็หวังว่าประเทศไทยจะคงอยู่ในวิถีทางประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม แม้ว่าสถานการณ์นี้จะเป็นเรื่องภายในซึ่งคนไทยจะต้องแก้ปัญหากันเอง แต่รัฐบาลก็หวังว่า มิตรประเทศจะแสดงการสนับสนุนการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย นอกจากนี้ เราขอให้ท่านเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของผู้นำการประท้วง รวมทั้งองค์กรอิสระทั้งหลาย เนื่องจากเราไม่ต้องการให้เหตุการณ์ที่นำไปสู่การถอดถอนรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เกิดขึ้นอีก เราจึงขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้
ประการแรก เพื่อป้องกันความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยวิถีทางที่ไม่
เป็นประชาธิปไตย ผมหวังว่าประเทศของท่านจะแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการสนับสนุนประชาธิปไตย
ประการที่สอง ผมหวังว่าหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติจะแสดงท่าทีใน
ทำนองเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงอนุสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า รัฐบาลได้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง และได้ใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุด และมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาด้วยแนวทางที่สันติ อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ เราก็จะใช้มาตรการที่เหมาะสมในการบังคับใช้กฎหมายตามบรรทัดฐานและมาตรฐานสากล
เราไม่ต้องการให้เกิดการปะทะและความรุนแรงระหว่างคนไทยด้วยกัน ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตและการบาดเจ็บเช่นเดียวกับในอดีต และเราต้องระวังมิให้มีมือที่สามที่ไม่หวังดีฉวยโอกาสจากเหตุการณ์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
ในขณะเดียวกัน ผมขอความร่วมมือทุกท่านในการรายงานความคืบหน้าของสถานการณ์ตามความเป็นจริงกลับไปยังเมืองหลวงของท่าน
รัฐบาลไทยรู้สึกยินดีต่อถ้อยแถลงเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยของหลายประเทศและเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งเป็นถ้อยแถลงที่สร้างสรรค์ สมดุล และสะท้อนถึงแนวทางที่รัฐบาลได้ยึดถือปฏิบัติ
ผมขอย้ำว่า เราจะแจ้งความคืบหน้าของสถานการณ์ให้ท่านทราบอย่างสม่ำเสมอ และขอยืนยันว่า แม้จะเผชิญสถานการณ์ที่ตึงเครียด รัฐบาลมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ทั้งภายในประเทศและในเวทีนานาชาติ
สุดท้ายนี้ ผมได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือ ศอ. รส. จึงขอให้คณะทูตติดตามแถลงการณ์ของ ศอ. รส. อย่างใกล้ชิดต่อไป
ขอบคุณครับ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--