สรุปสาระสำคัญ
การให้สัมภาษณ์ของ ดร. สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ในรายการ ฟันธง ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง ๑๑
วันศุกร์ที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๖ เวลา ๒๐.๓๐ น.
๑. รอง นรม. / รมว. กต. แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายตนให้ดำรงตำแหน่ง ผอ. ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีภารกิจสำคัญอื่น ๆ ที่ต้องดูแลเพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศเดินหน้าต่อไป และเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงเป็นเรื่องที่นานาประเทศให้ความสนใจ จึงควรมีการชี้แจงให้ทั้งประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าใจข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนและทันการณ์
๒. การทำงานของ ศอ.รส. ปัจจุบัน ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เกิดการบูรณาการระหว่างส่วนราชการต่าง ๆ โดยมีการตั้งคณะทำงานขึ้นใหม่ ๔ คณะ ได้แก่ ๑) คณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์ ซึ่งมี รอง นรม. / รมว. กต. เป็นประธาน ๒) คณะกรรมการด้านกฎหมาย ซึ่งมี รมว. ยธ. เป็นประธาน ๓) คณะกรรมการด้านข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมี รมว. ไอซีที เป็นประธาน และ ๔) คณะกรรมการด้านการดูแลประชาชน ซึ่งมี รมว. มท. เป็นประธาน
๓. ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์ รอง นรม./รมว. กต. มีหน้าที่ในการวางแผนและประสานงานที่จะทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณชน เพื่อให้ได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงของสถานการณ์การชุมนุมและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยึดหลักปฏิบัติสากล
๔. แนวทางการดำเนินการจากนี้ไป จะมีการเก็บหลักฐานและภาพถ่ายเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างละเอียด รวมถึงเชิญสื่อมวลชนต่างประเทศเข้าไปเก็บภาพในพื้นที่ เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงทั้งหมดให้ประชาคมระหว่างประเทศได้รับทราบ เนื่องจากนานาประเทศมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย ต้องการให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทน ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงและทำให้ผู้ชุมนุมสูญเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายที่ นรม. ยึดมั่น
๕. ปัจจุบัน เริ่มมีมือที่สามพยายามทำให้เกิดเหตุรุนแรง ซึ่งในชั้นนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกลุ่มใด โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับสถานการณ์และเรียกร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกมา เพื่อดูและชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน รัฐบาลได้เพิ่มกำลังสายตรวจในพื้นที่ มีการใช้กล้องวงจรปิดทั้งแบบซ่อนและแบบเคลื่อนไหว รวมทั้งจะขอความร่วมมือจากกรุงเทพมหานครในการเก็บภาพทางกล้องวงจรปิด เพื่อให้สามารถติดตามจับกุมตัวผู้ก่อเหตุได้ทันท่วงที
๖. ในส่วนการดำเนินคดี ขณะนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำการประท้วง เป็นผู้ต้องหาตามหมายศาลในข้อหากบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ ในขณะเดียวกัน ผู้สนับสนุน สมคบ สมรู้ร่วมคิดกับนายสุเทพฯ ก็จะมีความผิดตามมาตรา ๑๑๔ ซึ่งต้องระวางโทษจำคุก ๓ – ๑๕ ปี ดังนั้น บุคคลหรือหน่วยงานใด รวมถึงสื่อมวลชน (ช่อง Blue Sky) ที่ให้การสนับสนุนแก่นายสุเทพฯ ก็เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา ๑๑๔ ด้วย ซึ่งทาง ศอ.รส. จะรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
๗. การดำเนินการทางกฎหมายโดยการรวบรวมหลักฐานและออกหมายจับผู้ที่สมรู้ร่วมคิดกับนายสุเทพฯ ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง หากแต่เป็นการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งผู้ต้องหาสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงในชั้นศาลได้ นอกจากนี้ยังเป็นการป้องปรามมิให้มีผู้กระทำผิดเพิ่มเติม
๘. โดยส่วนตัว คิดว่า ศอ. รส. ไม่สามารถเจรจากับนายสุเทพฯ ได้ในขณะนี้ เนื่องจากนายสุเทพฯ เป็นผู้ต้องหาในข้อหากบฏ การเจรจาอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดกฎหมายในฐานะเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับกบฏ นายสุเทพฯ จึงต้องมอบตัวก่อน จึงจะสามารถเจรจาได้
๙. รอง นรม./รมว. กต. ประเมินว่าการใช้ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงฯ น่าจะเพียงพอสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในชั้นนี้
๑๐. ข้อเรียกร้องของนายสุเทพฯ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถดำเนินการได้ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ตลอดจนไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมโลก การชุมนุมในขณะนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของประเทศไทย ขัดขวางการทำงานของส่วนราชการเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ทั้งยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก จึงขอให้ผู้ชุมนุมคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติด้วย ขณะนี้ รัฐบาลรับรู้และเข้าใจความคิดเห็นของผู้ชุมนุมแล้ว และพร้อมหาทางออก แก้ไขปัญหาร่วมกัน
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--