ไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การว่าด้วยความร่วมมือและความมั่นคงในยุโรป (Organization for Co-operation and Security in Europe – OSCE) ครั้งที่ ๒๐ ณ กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน

ข่าวต่างประเทศ Friday December 13, 2013 13:38 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๕ -๖ ธันวาคม ๒๕๕๖ นายณรงค์ ศศิธร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การว่าด้วยความร่วมมือและความมั่นคงในยุโรป (Organization for Co-operation and Security in Europe – OSCE) ครั้งที่ ๒๐ ณ กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน ในฐานะประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือฝ่ายเอเชียของ OSCE

การประชุมระดับรัฐมนตรีของ OSCE มีทุกปีเพื่อทบทวนและประเมินการทำงานของ OSCE และหารือเกี่ยวกับประเด็นความท้าทายต่าง ๆ ด้านความมั่นคง ในปีนี้ ที่ประชุมได้หารือเรื่องการพัฒนา OSCE ไปสู่การเป็นประชาคมแห่งความมั่นคง (security community) ในทุกมิติภายในปี ๒๕๕๘ อันเป็นวาระครบรอบ ๔๐ ปีของการลงนาม Helsinki Final Act ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการก่อตั้ง OSCE นอกจากนี้ ได้ออกแถลงการณ์และรับรองข้อตัดสินใจในเรื่องการต่อต้านการค้ามนุษย์ การลดอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบา การส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของชาวโรมา เสรีภาพในการนับถือศาสนา พลังงานและสิ่งแวดล้อม การแก้ไขข้อพิพาทเหนือพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนภัยพิบัติและความมั่นคงทางพลังงาน

ในการประชุม ไทยได้ย้ำความสำคัญของประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความมั่นคง พร้อมทั้งย้ำเจตนารมณ์ของไทยในการร่วมมือกับ OSCE เพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงของโลก ไทยในฐานะที่เป็นประเทศอาเซียนประเทศเดียวใน OSCE เห็นว่า ASEAN Regional Forum (ARF) ซึ่งเป็นกรอบความมั่นคงในระดับภูมิภาคของอาเซียนและเอเชียแปซิฟิก สามารถเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ OSCE ในด้านความมั่นคงได้ โดยไทยพร้อมเป็นจุดเชื่อมของความร่วมมือ นอกจากนั้น ไทยยังได้แจ้งความประสงค์ที่จะยกระดับความสัมพันธ์กับ OSCE ด้วย

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศยังได้ใช้โอกาสระหว่างการประชุมพบหารือทวิภาคีกับหัวหน้าคณะประเทศสมาชิก OSCE ระดับรัฐมนตรี และผู้แทนระดับสูงจาก ๑๑ ประเทศ ได้แก่ ทาจิกิสถาน จอร์เจีย อันดอร์รา ไอร์แลนด์ โมนาโก ซานมารีโน มองโกเลีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มาเซโดเนีย และสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ ได้หารือกับ นาย Lamberto Zannier เลขาธิการ OSCE เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน โดยฝ่ายไทยได้ขอรับการสนับสนุนไทยในการสมัครตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๑๘ และตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๕ – ๒๐๑๗ ทั้งนี้ ในส่วนของการหารือกับเลขาธิการ OSCE และเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำ OSCE ซึ่งทำหน้าที่ประธาน OSCE ในปี ๒๕๕๗ นั้น ฝ่ายไทยได้ขอรับข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และการสนับสนุนในการเข้าเป็นสมาชิก (Participating State) ของไทยใน OSCE ซึ่งทั้งสองแจ้งว่าพร้อมจะให้การสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ OSCE ได้มีมติเห็นชอบให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีของ OSCE ครั้งที่ ๒๑ ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ ที่เมืองบาเซล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

อนึ่ง องค์การ OSCE พัฒนามาจากกรอบการประชุมว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Conference on Security and Co-operation in Europe – CSCE) ในยุคสงครามเย็น และเปลี่ยนชื่อเป็น OSCE เมื่อปี ๒๕๓๗ ปัจจุบันขอบเขตการดำเนินงานของ OSCE มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงใน ๓ มิติหลัก ได้แก่ ๑) ด้านการเมืองและการทหาร ๒) ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ๓) ด้านมนุษย์ ซึ่งครอบคลุมการปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การส่งเสริมหลักนิติธรรมและการเป็นประชาธิปไตย

ปัจจุบัน OSCE มีสมาชิก ๕๗ ประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ทวีปอเมริกาเหนือ (สหรัฐอเมริกา และแคนาดา) จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (มองโกเลีย) ไทยเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนฯ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ของ OSCE ด้านการเมืองและความมั่นคงเพื่อนำมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงในกรอบ ASEAN รวมทั้งเพื่อชี้แจงให้สมาชิก OSCE เข้าใจพัฒนาการที่สำคัญในเอเชีย โดยเฉพาะนโยบายและบทบาทของไทยด้านความมั่นคงในภูมิภาค ตลอดจนเพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านมิติมนุษย์ ซึ่งไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันในภูมิภาคและในกรอบสหประชาชาติ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ