๑. เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๗ นายกรัฐมนตรีได้โทรศัพท์ถึงนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้โทรศัพท์ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียเพื่อแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ และเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๗ กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียได้มีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ขอบคุณสำหรับการโทรศัพท์ดังกล่าว ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะมีหนังสือแสดงความเสียใจอย่างเป็นทางการถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย พร้อมยืนยันความพร้อมของไทยที่จะให้ความช่วยเหลือตามที่ฝ่ายมาเลเซียขออีกทางหนึ่งด้วย
๒. ตั้งแต่วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๗ กองทัพเรือไทยได้เข้าร่วมปฏิบัติการสำรวจและค้นหาเครื่องบินดังกล่าวตามคำขอของทางการมาเลเซีย โดยได้ส่งเรือหลวงปัตตานี เรือหลวงสงขลา เรือหลวงสัตหีบ พร้อมทั้งเฮลิคอปเตอร์ Super Lynx และเครื่องบินลาดตะเวนทางทะเล Do-228 ออกปฏิบัติการในบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน แต่ไม่พบร่องรอยใด ๆ
๓. เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๔.๐๐ น. The Honourable Dato' Hamzah Zainudin รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียได้เชิญเอกอัครราชทูตและผู้ช่วยทูตทหารประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์จาก ๑๑ ประเทศ ซึ่งรวมประเทศที่มีที่ตั้งในเส้นทางการบินทางเหนือ และเส้นทางการบินทางใต้ อาทิ ไทย จีน อินเดีย ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ปากีสถาน บังกลาเทศ คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน คีร์กิซสถาน เติร์กเมนิสถาน รับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาลมาเลเซียในการสำรวจและค้นหาเครื่องบินและผู้โดยสารที่สูญหาย และขอรับการสนับสนุนข้อมูลอากาศยานเพื่อยืนยันและลดพื้นที่ค้นหา และการอนุญาตในการปฏิบัติการค้นหาในพื้นที่แต่ละประเทศ เมื่อได้รับการร้องขอจากมาเลเซีย
นายกฤต ไกรจิตติ เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และพันเอกฐิติวัชร์ เสถียรทิพย์ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกได้เข้าร่วมการบรรยายข้างต้น โดยเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ได้แจ้งความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือของไทยตามที่มาเลเซียร้องขอ
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--