รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่าประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน Tier 2 Watch List ติดต่อกัน ๔ ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓) และการจัดอันดับในปีนี้ ประเทศไทยจะไม่สามารถคงสถานะเดิมได้อีก โดยอาจถูกปรับสถานะขึ้นอยู่ใน Tier 2 หรือ Tier 1 หรือลดลงอยู่ใน Tier 3
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจถึงด้วยการลงโทษและการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ซึ่งล่าสุดในปี ๒๕๕๖ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้ดำเนินการจนมีความคืบหน้าในด้านต่าง ๆ ดังนี้
๑. การดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย – มีการดำเนินคดีเพิ่มขึ้นเป็น ๖๗๔ คดี ในจำนวนนี้ มีการฟ้องร้องผู้กระทำผิด ๔๘๓ ราย (จาก ๕๖ ราย ในปี ๒๕๕๕) ลงโทษผู้กระทำผิด ๒๒๕ ราย (จาก ๔๙ รายในปี ๒๕๕๕) ดำเนินคดีบริษัทจัดหางาน ๑๕ บริษัท (ถอนใบอนุญาต ๒ บริษัท พักใบอนุญาต ๔ บริษัท และดำเนินคดีอาญา ๙ บริษัท) และดำเนินคดีกับนายหน้าเถื่อน ๑๕๕ คดี
๒. การคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือ – ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จำนวนกว่า ๖๐๐ คน เป็นเงินรวมกว่า ๖ ล้านบาท
๓. การป้องกัน – ปรับปรุงและขยายการตรวจแรงงานให้ครอบคลุมพื้นที่และสาขาอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นในภาคการประมง มีการจัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมงใน ๗ จังหวัด เพื่อให้กระบวนการด้านแรงงานเป็นไปตามกฎหมาย
๔. นโยบายและกลไก – รัฐบาลจัดสรรงบประมาณพิเศษกว่า ๑๙๐ ล้านบาทเพื่อดำเนินกิจกรรมเชิงรุกด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
๕. ความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ และระหว่างประเทศ – จัดทำ MOU กับองค์การเอกชน ภาคประชาสังคมและประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขงเพื่อร่วมมือป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และอยู่ระหว่างการเจรจา MOU เพิ่มเติมกับหลายประเทศ เช่น จีน มาเลเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ล่าสุด เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตันได้นำทีมประเทศไทยมาพบหารือกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเพื่อติดตามความคืบหน้าในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และปัญหาแรงงาน เพื่อประมวลข้อมูลในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและสอดคล้องข้อเท็จจริงกับฝ่ายต่าง ๆ ในสหรัฐฯ
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--