ไทยเข้าร่วมการประชุม OECD Southeast Asia Regional Forum ที่บาหลี

ข่าวต่างประเทศ Friday March 28, 2014 14:42 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๕ – ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๗ นายชุตินทร คงศักดิ์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศเข้าร่วมการประชุม Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) Southeast Asia Regional Forum ณ บาหลี อินโดนีเซีย โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยเข้าร่วมด้วย ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS)

OECD จัดการประชุมดังกล่าวร่วมกับกระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประเทศสมาชิกอาเซียนต่อแนวทางการกระชับความร่วมมือระหว่าง OECD กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งโครงการ Southeast Asia Regional Programme จะเปิดตัวในการประชุมระดับรัฐมนตรีของ OECD (OECD Ministerial Council Meeting) ระหว่างวันที่ ๖ – ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ สำนักงานใหญ่ OECD กรุงปารีส

หัวข้อหลักของการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การผลักดันการแข่งขันในภูมิภาคเพื่อการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน (Fostering Regional Competitiveness for Inclusive and Sustainable Growth) โดยที่ประชุมเห็นพ้องว่า การสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องอาศัยการพัฒนา ๔ ด้านควบคู่กันไป ได้แก่ (๑) การสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค (๒) การสร้างบรรยากาศที่ดีในการดำเนินธุรกิจ อาทิ การปฏิรูปกฎระเบียบ การปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษี การส่งเสริม SMEs (๓) การสร้างการเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม ผ่านการปรับปรุงนโยบายด้านการศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงาน และ (๔) การรวบรวมข้อมูลทางสถิติ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำตัวชี้วัดต่าง ๆ

?ที่ประชุม ฯ ตระหนักถึงปัญหาของระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้แต่ละประเทศเผชิญกับปัญหาและความท้าทายที่แตกต่างกัน และเห็นว่าแนวทางดำเนินความร่วมมือที่เหมาะสมที่สุดคือการจัดตั้งเครือข่ายนโยบายของภูมิภาค (Regional Policy Networks—RPNs) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูล ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศ ระหว่างผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก OECD และอาเซียน ที่ประชุมเห็นควรให้จัดตั้งเครือข่าย ๖ ด้าน ได้แก่ ภาษี การลงทุน การสร้างความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน การปฏิรูปกฎระเบียบ การศึกษาและการพัฒนาฝีมือ และ SMEs ทั้งนี้ เครือข่ายแต่ละด้านจะกำหนดแนวทางดำเนินความร่วมมือตามแต่ความต้องการของสมาชิก และ OECD จะจัดการประชุม Southeast Asia Regional Forum อีกครั้งในอีก ๑๘ เดือนข้างหน้า เพื่อประเมินความสำเร็จของโครงการ

ในการประชุมครั้งนี้ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้รับเชิญให้เป็นผู้ร่วมอภิปรายในประเด็นเรื่องการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยได้ย้ำความสำคัญของอาเซียนซึ่งเป็นแกนหลักในนโยบายของไทยและภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันอาเซียนมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเชื่อมโยงทางกายภาพ ผ่านการดำเนินการในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ASEAN APEC และ ACD ทั้งนี้ มิติความเชื่อมโยงทางกฎระเบียบก็เป็นเรื่องสำคัญซึ่ง OECD สามารถมีบทบาทสนับสนุนอาเซียนได้ โดยควรเน้นการดำเนินความร่วมมือในประเด็น ดังนี้

๑. การปรับปรุง soft infrastructure เพื่อส่งเสริมให้การไหลเวียนของสินค้าดำเนินไปอย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น รวมทั้งลดค่าใช้จ่าย อาทิ การจัดทำระบบ national single window และ harmonized customs-immigration-quarantine (CIQ) procedure

๒. การปฏิรูปกฎระเบียบภายใน เพื่อสร้างบรรยากาศของการลงทุนที่ดี อาทิ การปรับปรุงนโยบายส่งเสริม SMEs นโยบายด้านการลงทุน นโยบายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และระเบียบการจัดทำหุ้นส่วนความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน (PPPs)

๓. การให้คำแนะนำเรื่องการพัฒนาระบบการเงินที่เหมาะสมโดยเฉพาะในบริบทที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ที่แตกต่างกันระหว่างประเทศในภูมิภาค เพื่อนำไปสู่การได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้น

๔. การให้คำแนะนำเรื่องการกระจายผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจไปสู่ประเทศและชุมชนที่เป็นทางผ่านของถนน เส้นทางรถไฟ และเส้นทางเดินเรือ เพื่อให้ชุมชนในท้องถิ่นเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมรวมทั้งสามารถตระหนักถึงผลประโยชน์จากความเจริญที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง

OECD หรือองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศสมาชิกผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ส่งเสริมการค้าเสรี และให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา นอกจากนี้ OECD มีหน่วยงานด้านการศึกษาวิจัยที่ดีเป็นลำดับต้นของโลก ปัจจุบันมีสมาชิก ๓๔ ประเทศ กับ ๑ องค์กร คือ สหภาพยุโรป โดยไทยยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของ OECD อย่างไรก็ดี หลายหน่วยงานของไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของ OECD อาทิ ด้านประมง ภาษี การส่งเสริม SMEs และการลดปัญหาคอร์รัปชั่น ไทยเป็นหนึ่งในสี่ประเทศนอกเหนือจากเปรู โมร็อกโก และคาซัคสถาน ที่ OECD เห็นว่ามีศักยภาพที่จะกระชับความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนในรูปแบบของโครงการความร่วมมือหุ้นส่วนระดับประเทศ

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ