อย่างไรก็ดี WHO ยังไม่มีประกาศแนะนำการจำกัดการเดินทางและการค้ากับประเทศกินี ไลบีเรีย รวมทั้งเซียร์ราลีโอน ที่เป็นประเทศใกล้เคียง WHO ระบุด้วยว่าเชื้อไวรัสอีโบลาพบในสัตว์ สามารถแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนได้จากการสัมผัสหรือการบริโภคนม เลือด และเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อ และสามารถแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้จากการสัมผัสเลือด ของเหลวคัดหลั่ง หรือการใช้เข็มฉีดยาติดเชื้อ ระยะเวลาเพาะเชื้อนับตั้งแต่การได้รับเชื้อไวรัสจนถึงการแสดงอาการภายใน ๒ – ๒๑ วัน ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีรักษา และมีอัตราการเสียชีวิตสูงมากถึงร้อยละ 90 ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ไวรัส อาการของโรคอีโบลาจะมีความผันแปรสูง มักเกิดอย่างฉับพลัน มีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ ข้อ และช่องท้องรุนแรง อ่อนเพลีย หากอาการรุนแรง จะมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง อุจจาระกลายเป็นสีดำหรือแดงจัด อาเจียนเป็นเลือด ตาแดงจัด ความดันโลหิต ลดต่ำ ไต ม้าม และตับได้รับความเสียหาย โดยข้อมูลจากนักวิจัยยังระบุว่า เชื้อไวรัสอีโบลาสามารถเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วมากจนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้จนถึงแก่ชีวิต
ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ขอแนะนำให้คนไทยที่จะเดินทางไปยังประเทศดังกล่าวปฏิบัติ ดังนี้
๑. หลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็นออกไปจนกว่าสถานการณ์ระบาดจะคลี่คลาย
๒. ติดตามการระบาดของไวรัสจากคำเตือนองค์การอนามัยโลก (www.who.int/csr/don/2014_04_ebola/en) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (http://beid.ddc.moph.go.th/th_2011/index.php) และข่าวที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
๓. หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาด ขอให้ลงทะเบียนการเดินทางรวมถึงเที่ยวบิน ขาเข้า–ออก รายละเอียดที่พัก และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ไว้กับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ เพื่อติดต่อในกรณีฉุกเฉิน
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--