ในงานเปิดตัวหนังสือดังกล่าว นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ ได้กล่าวถึงนโยบายและภารกิจสำคัญของกระทรวงการต่างประเทศในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับนานาประเทศ รวมถึงมิตรประเทศมุสลิม โดยปัจจุบันภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศกับโลกมุสลิมเพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่ประเทศไทยได้เข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ในองค์การความร่วมมืออิสลามหรือ OIC เมื่อปี ๒๕๕๑ กอปรกับกลุ่มประเทศมุสลิมได้มีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศจึงได้เปิดรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญภาษาอารบิกและมีความรู้เกี่ยวกับโลกมุสลิมเข้าเป็นข้าราชการของกระทรวงฯ เพิ่มขึ้นเพื่อการดำเนินความร่วมมือกับมิตรประเทศมุสลิมให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ทั้งยังได้ดำเนินกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยมุสลิม รวมถึงคุณูปการที่ชาวไทยมุสลิมมีต่อสังคมไทยและโลกมุสลิม เพื่อให้นานาประเทศได้รับทราบ เช่น การนำเยาวชนไทยมุสลิมไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ การเชิญสื่อมวลชนจากประเทศมุสลิมเยือนไทย การให้บริการหนังสือเดินทางและคุ้มครองดูแลพี่น้องชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ตลอดจนการสนับสนุนสมาคมกอรีแห่งประเทศไทยเข้าแข่งขันอ่านและท่องคำภีร์อัลกุรอานในต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจที่นักกอรีไทยได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันประเภทท่องจำคัมภีร์ทั้งเล่มที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ดร. ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า การจัดทำหนังสือ “Muslim Thais: Diversity & Creativity” สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของศูนย์มุสลิมศึกษาที่ต้องการจะส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศไทยกับโลกมุสลิม โดยนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับชาติพันธุ์มุสลิมไทยที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับหลายกลุ่มชาติพันธุ์ในโลกมุสลิม และบทบาทของชาวไทยมุสลิมที่มีส่วนสร้างคุณูปการต่อประเทศชาติ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคมโลก โดยเฉพาะ การใช้ พ.ร.บ. การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นแบบหนึ่งของการบริหารกิจการศาสนาอิสลามในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม
ในโอกาสนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้รับเกียรติจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุติ ได้แก่ ดร. อณัส อมาตยกุล อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และรองศาสตราจารย์ ดร. จรัญ มะลูลีม หัวหน้าภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นวิทยากรและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เข้าร่วมงานในหัวข้อ “ชาวไทยมุสลิม – ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และการต่างประเทศ” โดย ดร. อณัสฯ ได้อธิบายว่าสาเหตุหนึ่งที่ศาสนาอิสลามเข้ามามีอิทธิพลต่อศิลปะ วัฒนธรรม และสังคมไทย เพราะกลุ่มประเทศมุสลิมเคยครอบครองเส้นทางการค้าทางทะเลในอดีต และมีชาวมุสลิมจากหลากหลายชาติพันธุ์เข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย โดยอาจแบ่งออกเป็น ๕ สาย ได้แก่ ๑) สายชาวมลายู ๒) สายเอเชียตะวันตกหรือชาวอินโด-เปอร์เซีย ๓) สายชาวจาม ๔) สายชาวจีนมุสลิม และ ๕) สายชาวปาทาน ในด้านการต่างประเทศ ดร. จรัญฯ ได้บรรยายถึงคุณประโยชน์ที่ชาวมุสลิมมีต่อสังคมโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งด้านคณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ปัจจุบัน มีผู้นับถือศาสนาอิสลามมากถึงหนึ่งในห้าของประชากรโลกและ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ ในระดับพหุภาคี องค์การความร่วมมืออิสลามหรือ OIC ก็มีบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ ประเทศไทยจึงตระหนักถึงความสำคัญของกลุ่มประเทศมุสลิมและพยายามสานความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้ในทุก ๆ เวที อาทิ Interfaith Dialogue AMED ASEM และผ่านการดำเนินนโยบายมองตะวันตกหรือ Look West Policy ซึ่งให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
หลังจากงานเปิดตัวหนังสือฯ อธิบดีกรมสารนิเทศได้เป็นประธานการประชุมระหว่างอาหารกลางวัน ณ ห้องอาหาร Spice & Rice โรงแรมเดอะ สุโกศล เพื่อระดมสมองกับคณาจารย์และผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เกี่ยวกับแนวทางและยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ไทยในโลกมุสลิม เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาประกอบการกำหนดกลยุทธ์และรูปแบบในการจัดทำข้อมูลประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในโลกมุสลิมต่อไป
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรับหนังสือ “Muslim Thais: Diversity & Creativity” ได้ที่กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ทางโทรศัพท์ หมายเลข ๐ ๒๒๐๓ ๕๐๐๐ ต่อ ๒๒๙๔๒ หรือทางอีเมล info0903@gmail.com
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--