อธิบดีกรมอาเซียนเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ ณ กรุงย่างกุ้ง เมียนมาร์

ข่าวต่างประเทศ Friday June 13, 2014 13:00 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร อธิบดีกรมอาเซียน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative - LMI) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกจากกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทย เวียดนามและสหรัฐอเมริกา และเข้าร่วม การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Friends of the Lower Mekong - FLM) ซึ่งมีผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี นิวซีแลนด์ และสหภาพยุโรป เข้าร่วมด้วย ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์
          กรอบความร่วมมือ LMI จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับสหรัฐฯ และพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สาขาความร่วมมือ มี ๖ สาขา ได้แก่ สิ่งแวดล้อมและน้ำ  สาธารณสุข การศึกษา ความเชื่อมโยง การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร และ        ความมั่นคงทางพลังงาน

ในส่วนของประเทศไทยให้ความสำคัญกับกิจกรรม/ โครงการภายใต้สาขาความร่วมมือทางด้านความเชื่อมโยง สาธารณสุข ความมั่นคงด้านพลังงาน และการศึกษา โดยอธิบดีกรมอาเซียนได้กล่าวถึงแผน การดำเนินงานของ LMI ในอีก ๕ ปีข้างหน้า (ค.ศ. ๒๐๑๖ - ๒๐๒๐) ซึ่งควรเป็นพื้นฐานภายใต้วิสัยทัศน์ของอาเซียนภายหลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๑๕ (ปี ๒๕๕๘) และการเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของประเทศอาเซียน (ASEAN Centrality) ในภูมิภาค ทั้งนี้ สหรัฐฯ ควรมีบทบาทสร้างสรรค์มากขึ้นในการลดช่องว่างทางการพัฒนาและการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความรุ่งเรืองในภูมิภาค

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบการเสนอรายชื่อบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาทำหน้าที่เป็น Eminent and Expert Persons Group (EEPG) ให้แก่ LMI ในส่วนของไทยได้เสนอชื่อ ดร.สุทัศน์ เศรษฐบุญสร้าง อดีตรองเลขาธิการอาเซียนและผู้แทนการค้าไทย และ รศ.ดร. รุธิร์ พนมยงค์ อาจารย์หัวหน้าสาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติสก์ และการขนส่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ ภารกิจแรกที่ EEPG จะดำเนินการ ได้แก่การให้ข้อแนะนำในประเด็น อาทิ แนวทางพัฒนากรอบ LMI อย่างยั่งยืน การดำเนินการให้ LMI ดำเนินงานให้สอดล้องกับโครงการในกรอบภูมิภาคอื่น การสนับสนุนให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และความร่วมมือประเด็นที่ครอบคลุมเนื้อหาร่วมกันในหลายหัวข้อ (cross-cutting issues) เรื่องอาหาร น้ำ พลังงาน ทั้งนี้ สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับประเด็นร่วม เรื่องอาหาร น้ำ และพลังงาน และจะได้หารือในที่ประชุมรัฐมนตรี LMI ในช่วงเดือนสิงหาคม ๒๕๕๗

ในที่ประชุม FLM ไทยสนับสนุนให้มีการประสานงานกับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงาน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของ FLM ซึ่งเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เพื่อสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน และการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ที่ประชุมชื่นชมบทบาทญี่ปุ่นในการสนับสนุนโครงการ Women’s Entrepreneurial Center for Research , Education, Access and Training for Economic Empowerment (WECREATE)

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ