สถานการณ์ความรุนแรงในอิรัก

ข่าวต่างประเทศ Tuesday June 17, 2014 11:20 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกองกำลังติดอาวุธ Islamic State of Iraq and Al-Sham (Levant) หรือ ISIS/ISIL ได้เข้ายึดเมือง Mosul ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่อันดับที่สองของอิรัก ส่งผลให้มีผู้อพยพออกจากเมือง Mosul กว่า ๕ แสนคน ด้วยความหวาดกลัวต่อความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอิรักจะใช้มาตรการตอบโต้โดยการโจมตีทางอากาศ และความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น นั้น

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมอิรักได้รายงานความคืบหน้าของสถานการณ์ดังกล่าวต่อกระทรวงการต่างประเทศว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประจำกรุงแบกแดด ติดต่อประสานงานกับคนไทยในอิรักในเขตพื้นที่รอบ ๆ กรุงแบกแดด พบว่า คนไทยเหล่านั้นยังมีความเป็นอยู่อย่างปกติ และไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่ามีคนไทยอาศัยอยู่ในเขตที่มีการสู้รบแต่อย่างใด

ในขณะนี้ คนไทยในอิรักมีจำนวนประมาณ ๔๐ คน ประกอบด้วย ๒ กลุ่มใหญ่ คือ วิศวกรท่าอากาศยานเมือง Najaf (เมืองศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์) จำนวน ๒๔ คน และกลุ่มสตรีที่ไปทำงานสปาไทยในเคอร์ดิสถานในเมือง Erbil และ Duhok จำนวน ๑๖ คน ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลกับหัวหน้ากลุ่มคนไทย ทราบว่า ในขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สู้รบที่เกิดขึ้น และสถานการณ์ทั่วไปยังคงเงียบสงบ

ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากปัจจัยข้างต้นแล้ว แนวโน้มที่เหตุการณ์สู้รบจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตของคนไทยในเมือง Najaf, Erbil และ Duhok ในขณะนี้ยังมีน้อย เนื่องจาก ISIS/ISIL มีอิทธิพลจำกัดเฉพาะพื้นที่ที่เป็นของชาวสุหนี่ อย่างไรก็ตาม หากการต่อสู้ระหว่างกองทัพอิรักกับ ISIS/ISIL ยืดเยื้อออกไป ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีสถานการณ์ความรุนแรงในที่ชุมชนต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในกรุงแบกแดด ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ มีมาตรการและความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือแก่คนไทยหากเหตุการณ์ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ