นอกเหนือจากการประชุม Trade and Development Board แล้ว ยังมีกิจกรรมที่สำคัญอีก ๓ กิจกรรมในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ ได้แก่
๑) การประชุม Geneva Dialogue ครั้งที่ ๓ ว่าด้วยวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ซึ่งเป็นเวทีหารืออย่างไม่เป็นทางการเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก องค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมุ่งเน้นบทบาทของการค้าในฐานะตัวขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
๒) การประชุม UNCTAD Public Symposium ในหัวข้อ “A better world economic order for equality and sustainable development post-2015” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันซึ่งมีผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
๓) การประชุมหารือระดับสูงของกลุ่ม ๗๗ และจีน เพื่อเปิดตัว Gamani Corea Forum อย่างเป็นทางการ โดย Gamani Corea Forum เป็นข้อริเริ่มของกลุ่ม ๗๗ และจีนที่นครเจนีวา (Geneva Chapter) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ในประเด็นด้านการพัฒนาระหว่างกลุ่ม ๗๗ และจีนกับอดีตเจ้าหน้าที่ของ UNCTAD และสถาบันวิชาการต่าง ๆ ในนครเจนีวา
UNCTAD เป็นองค์กรในสหประชาชาติที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๗ (ค.ศ. ๑๙๖๔) โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในประเด็นด้านการค้า การเงิน การลงทุน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ผ่านมา UNCTAD มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นสถาบันวิชาการที่ให้บริการประสานการหารือเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้า และการพัฒนา รวมทั้งเน้นการประสานนโยบายภายในประเทศกับการดำเนินงานระหว่างประเทศให้สอดคล้องและส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน UNCTAD มีสมาชิกจากทุกภูมิภาคของโลกจำนวน ๑๙๔ ประเทศ ซึ่งไทยมีบทบาทที่สร้างสรรค์ใน UNCTAD ตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ และได้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีของ UNCTAD มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงระหว่างการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ UNCTAD ของ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ (๑ กันยายน ๒๕๔๘ ถึง ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖) ซึ่ง ดร.ศุภชัยฯ มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ UNCTAD และประเทศสมาชิกหันมาพิจารณาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้านมากขึ้น โดยสนับสนุนการเจริญเติบโตที่ควบคู่ไปกับการพัฒนา (Growth with Development) และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปนโยบายและโครงสร้างของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศให้มีความสอดคล้องกัน นอกจากนี้ ไทยยังเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม UNCTAD ครั้งที่ ๑๐ ในปี ๒๕๔๓ (ค.ศ. ๒๐๐๐) และในการประชุมระดับรัฐมนตรีของ UNCTAD ครั้งล่าสุด (ครั้งที่ ๑๓) ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อปี ๒๕๕๕ ไทยมีบทบาทที่แข็งขันในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมการ (Preparatory Committee) ของกลุ่ม ๗๗ และจีน โดยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะเจรจา (Chief Negotiator) ของกลุ่มโดยนายเสข วรรณเมธี ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประสานผลประโยชน์ภายในกลุ่ม ๗๗ และจีน ซึ่งช่วยเสริมสร้างอำนาจของกลุ่มในการเจรจาต่อรองกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจนสามารถบรรลุฉันทามติในการรับรอง Doha Mandate
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--